แม่ศรีเรือนต้องปลื้ม แจก 9 สูตรอาหารไทยโบราณ ต้นตำรับขนานแท้
ไม่มีกำหนดอายุ

แม่ศรีเรือนต้องปลื้ม แจก 9 สูตรอาหารไทยโบราณ ต้นตำรับขนานแท้

เมนูอาหารไทยโบราณเป็นอาหารที่สามารถหาทานได้ยาก และหลายๆ คนมักจะเข้าใจว่า ไม่สามารถทำเองได้ เพราะว่ามีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน หรือหาวัตถุดิบและส่วนผสมได้ค่อนข้างยาก แต่ในความเป็นจริง เมนูอาหารไทยโบราณไม่ได้มีขั้นตอนที่วุ่นวาย หรือหาส่วนประกอบยากอย่างที่คิด โดยในบทความนี้จะมาแชร์ 9 สูตรอาหารไทยโบราณที่สามารถทำได้ง่ายๆ และมีส่วนผสมของสมุนไพรหลากหลายชนิด จนเรียกได้ว่าเป็นเมนูอาหารไทยเพื่อสุขภาพ แถมยังสามารถทานได้ทุกเพศ ทุกวัยอีกด้วย จะมีเมนูอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย!


สารบัญ วิธีเลือกรองเท้าวิ่ง สำหรับมือใหม่


 อาหารไทยโบราณ คืออะไร? ทำไมถึงหาทานยาก

อาหารไทยโบราณ คืออะไร? ทำไมถึงหาทานยาก

 อาหารไทยโบราณ คือ อาหารที่เป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีสูตรที่ได้รับการสั่งสมมาตั้งแต่อดีต และถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งวิธีการปรุงอาหารไทยโบราณออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ต้ม, ยำ, ตำ และแกง ด้วยสูตรอาหารไทยโบราณที่มีวิธีประกอบอาหารที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีความประณีตสูง รวมถึง ยังมีรสชาติที่อร่อย จัดจ้าน และกลมกล่อมตามแบบฉบับอาหารไทย จึงทำให้อาหารไทยโบราณนั้นมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก แต่ก็หาทานได้ยากเช่นกัน 

เปิด 9 สูตรอาหารไทยโบราณ รสชาติอร่อยเหมือนต้นตำรับ

ไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อครัวหรือแม่ครัวมือใหม่ก็สามารถทำอาหารไทยโบราณได้ ด้วย 9 สูตรอาหารไทยโบราณที่สามารถทำตามได้ แถมยังมีรสชาติอร่อยเหมือนต้นตำรับอีกด้วย โดยทั้ง 9 เมนูต่อไปนี้จะมีขั้นตอนซับซ้อนหรือไม่ และสามารถหาวัตถุดิบ และส่วนผสมยากง่ายแค่ไหน ไปดูกันเลย!

ค้างคาวเผือก

1.ค้างคาวเผือก

เมนูค้างคาวเผือก เป็นเมนูอาหารว่างไทยโบราณที่สามารถหาทานได้ยาก จนหลายๆ คนอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเมนูค้างคาวเผือกนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 2 เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องเสวยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งแต่ก่อนนั้นเรียกว่า “ขนมค้างคาว” เพราะมีรูปร่างเหมือนค้างคาว และเป็นสูตรอาหารไทยโบราณที่ยังไม่มีการปรับแต่งวัตถุดิบ และส่วนผสมอื่นๆ เข้าไป แต่หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาสูตรด้วยการผสมเผือกเข้าไปในแป้งขนม จึงทำให้ขนมค้างคาวนั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ค้างคาวเผือก” นั่นเอง

วัตถุดิบ และส่วนผสม

สำหรับวัตถุดิบ และส่วนผสมในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูค้างคาวเผือก มีดังนี้

  1. แป้งสาลีอเนกประสงค์ 100 กรัม
  2. แป้งข้าวเจ้า 50 กรัม
  3. เผือกนึ่งบดละเอียด 300 กรัม
  4. มะพร้าวขาวขูด 100 กรัม
  5. เนื้อกุ้งสับ 200 กรัม
  6. กะทิ 50 กรัม
  7. น้ำตาลมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ 
  8. ใบมะกรูดหั่นฝอย 20 กรัม
  9. หอมแดงสับละเอียด 50 กรัม
  10. พริกไทยป่น 1 ช้อนชา
  11. เกลือป่น 1 ช้อนชา 
  12. น้ำมัน 250 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำเผือกนึ่งบดละเอียดผสมเข้ากับแป้งสาลีอเนกประสงค์ให้เข้ากัน พร้อมกับค่อยๆ เติมกะทิลงไปทีละน้อย เพื่อให้วัตถุดิบทั้ง 2 ชนิดนั้นมีเนื้อเนียนละเอียด และเมื่อนวดจนเข้ากันแล้ว ให้วางพัก พร้อมกับใช้ผ้าขาวบางปิดไว้
  2. ตั้งกระทะด้วยไฟปานกลาง แล้วนำหอมแดงลงไปผัด หลังจากนั้นใส่เนื้อกุ้งตามลงไป และผัดจนวัตถุดิบทั้ง 2 ชนิดนั้นสุก และเข้ากันดี
  3. ใส่มะพร้าวขาวขูดตามลงไป พร้อมกับปรุงรสด้วยน้ำตาลมะพร้าว เกลือป่น และพริกไทยป่น เมื่อวัตถุดิบและส่วนผสมทั้งหมดสุกและเข้ากันดีแล้ว ให้โรยใบมะกรูดลงไป เพื่อเพิ่มความหอมมากยิ่งขึ้น
  4. เมื่อผัดไส้เรียบร้อยแล้ว ให้นำแป้งเผือกที่ได้ผสมไว้ในขั้นตอนแรกนั้นมารีดให้เป็นแผ่น และนำไส้ที่ผัดไว้มาใส่ไว้ตรงกลาง พร้อมกับจับจีบ หรือพับริมแป้งเข้าหากันให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ทั้งนี้ จะต้องพับให้แป้งนั้นปิดไส้จนสนิท และเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน
  5. ละลายแป้งข้าวเจ้าและกะทิ พร้อมใส่เกลือป่นลงไปเล็กน้อย หลังจากนั้นนำขนมค้างคาวเผือกที่ปั้นไว้ชุบลงไปให้ชุ่มพอประมาณ พร้อมกับนำลงไปทอดในน้ำมันที่ร้อนจัด และทอดให้ขนมนั้นมีสีเหลืองอ่อน
  6. เมื่อทอดจนมีสีเหลืองอ่อนแล้ว ให้ตักขึ้นมาพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน และจัดใส่จานให้สวยงาม สามารถเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มอาจาด เพื่อเพิ่มความอร่อยได้อีกด้วย

หมี่กรอบส้มซ่า

2.หมี่กรอบส้มซ่า

เมนูหมี่กรอบส้มซ่า เป็นอีกเมนูอาหารไทยโบราณที่หลายๆ คนอาจจะเคยเห็นหรือเคยลิ้มรส เพราะเป็นเมนูที่ยังคงสามารถหาทานได้ในปัจจุบัน โดยเมนูหมี่กรอบส้มซ่านั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูนี้ คือ “ส้มซ่า” ด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการปรุงหมี่กรอบส้มซ่า และถือว่าเป็นวัตถุดิบที่แสดงถึงความประณีตของอาหารชาววังแบบโบราณอีกด้วย 

วัตถุดิบ และส่วนผสม

สำหรับวัตถุดิบ และส่วนผสมในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูหมี่กรอบส้มซ่า มีดังนี้

  1. เส้นหมี่แห้ง 500 กรัม
  2. ผิวส้มซ่า 2 ช้อนโต๊ะ
  3. น้ำส้มซ่า 4 ช้อนโต๊ะ
  4. ไข่ไก่ 3 ฟอง
  5. หอมแดง 100 กรัม
  6. น้ำตาลทราย 200 กรัม
  7. น้ำตาลปี๊บ 250 กรัม
  8. น้ำปลา 50 กรัม
  9. น้ำมะขามเปียก 80 กรัม
  10. น้ำกระเทียมดอง 30 กรัม
  11. ซอสพริก 80 กรัม
  12. สีผสมอาหารสีส้มอมแดง 2-3 หยด
  13. กุ้งแห้งแกะเปลือก 3-4 ตัว
  14. เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 10 กรัม
  15. ใบมะกรูดหั่นฝอย 10 กรัม
  16. พริกแห้ง 10 กรัม
  17. น้ำมัน 250 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. แช่เส้นหมี่ลงในน้ำสะอาด และทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที เพื่อให้เส้นหมี่นุ่มและชุ่มน้ำมากที่สุด
  2. ระหว่างที่รอให้เส้นหมี่นิ่มขึ้น ให้ตั้งกระทะด้วยไฟปานกลาง ใส่น้ำมันเล็กน้อย พร้อมกับนำหอมแดงลงไปเจียวจนสุกเหลือง 
  3. เมื่อหอมแดงสุกแล้ว ให้ตอกไข่ใส่ลงไป และใช้ตะหลิวขยี้ให้ไข่กระจายตัว และไม่จับเป็นก้อน หลังจากนั้นลดไฟให้เบาลง และปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา น้ำมะขามเปียก น้ำกระเทียมดอง ซอสพริก และน้ำส้มซ่า พร้อมกับเคี่ยวส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันและเคี่ยวจนน้ำซอสเข้มข้น
  4. หลังจากเคี่ยวจนน้ำซอสเข้มข้นแล้ว ให้เติมสีผสมอาหารลงไปประมาณ 2-3 หยด โดยค่อยๆ เติมลงไปทีละนิด เพื่อไม่ให้สีของน้ำซอสนั้นเข้มเกินไป 
  5. เมื่อผสมน้ำซอสกับสีผสมอาหารเข้าด้วยกันแล้ว ให้ใส่ผิวส้มซ่าตามลงไป โดยผิวส้มซ่านั้นควรใส่ในขั้นตอนสุดท้ายของการปรุงน้ำซอส เพื่อคงความหอมของผิวส้มซ่าไว้
  6. หลังจากปรุงน้ำซอสเรียบร้อยแล้ว ให้นำเส้นหมี่ที่แช่น้ำไว้ขึ้นมาวางให้สะเด็ดน้ำ และในระหว่างที่รอนั้นให้ตั้งกระทะด้วยไฟปานกลาง และใส่น้ำมันเล็กน้อย เพื่อทอดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ใบมะกรูด กุ้งแห้งแกะเปลือก และพริกแห้งสำหรับโรยหน้าหมี่กรอบ
  7. เมื่อทอดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ใบมะกรูด กุ้งแห้งแกะเปลือก และพริกแห้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เติมน้ำมันลงไปจนท่วมกระทะ และใช้ไฟร้อนจัด หลังจากนั้นนำเส้นหมี่ลงไปทอดทีละเล็กน้อย เพื่อให้เส้นหมี่นั้นกรอบ และฟูอย่างทั่วถึง
  8. หลังจากทอดหมี่กรอบเสร็จแล้ว ให้นำมาคลุกกับน้ำซอสที่ได้เตรียมไว้ โดยนำน้ำซอสนั้นตั้งไว้บนไฟอ่อน และเคี่ยวให้น้ำซอสเหลวเหมือนตอนที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ เมื่อน้ำซอสเริ่มเหลวแล้ว ให้นำเส้นหมี่ที่ทอดไว้ลงไปคลุกเคล้าในน้ำซอสให้เข้ากันอย่างทั่วถึง
  9. เมื่อคลุกเส้นหมี่กับน้ำซอสเข้ากันเรียบร้อยแล้ว สามารถตักขึ้นมาใส่จานให้สวยงาม และโรยหน้าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ใบมะกรูดทอด กุ้งแห้งแกะเปลือก และพริกแห้งทอด เพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับหมี่กรอบส้มซ่ามากยิ่งขึ้น

แสร้งว่า

3.แสร้งว่า

เมนูแสร้งว่า เป็นเมนูอาหารไทยโบราณที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นเมนูที่จัดอยู่ในประเภทเครื่องจิ้ม ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นอาหารชาววัง เมนูแสร้งว่าเป็นเมนูอาหารท้องถิ่นของชาวใต้ที่ทำมาจากไตปลา และนิยมทานกับผักสด ปลาทอด หรือปลาย่าง เมื่อเปลี่ยนมาเป็นอาหารชาววังก็ได้ปรับสูตรจากการใช้ไตปลามาเป็นเนื้อกุ้งแทน พร้อมทานคู่กับผักสด และปลาดุกฟู จึงเป็นที่มาของสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูแสร้งว่าจนถึงในปัจจุบัน

วัตถุดิบ และส่วนผสม

สำหรับวัตถุดิบ และส่วนผสมในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูแสร้งว่า มีดังนี้

  1. กุ้งสด 500 กรัม
  2. เนื้อปลาดุกย่าง 500 กรัม (สามารถใช้ปลาดุกฟูที่ทอดสำเร็จแทนได้)
  3. พริกชี้ฟ้าหั่นซอย 100 กรัม
  4. หอมแดงหั่นซอย 200 กรัม
  5. ตะไคร้หั่นซอย 100 กรัม
  6. ขิงสดหั่นฝอย 100 กรัม
  7. ใบมะกรูดหั่นฝอย 100 กรัม
  8. ใบสะระแหน่ 5 ใบ
  9. น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
  10. น้ำมะขามเปียก 1 ช้อนโต๊ะ
  11. น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
  12. น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  13. น้ำมัน 200 มิลลิตร

วิธีทำ    

  1. ใช้ส้อมยีเนื้อปลาดุกย่างที่ได้เตรียมไว้ให้ละเอียด หลังจากนั้นตั้งกระทะด้วยไฟปานกลาง และใส่น้ำมันให้ท่วมกระทะ รอให้น้ำมันร้อน จึงค่อยใส่เนื้อปลาดุกที่ยีแล้วลงไปทอดให้เหลือง กรอบ และฟู แล้วตักขึ้นมาวางพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
  2. ล้างทำความสะอาดกุ้ง พร้อมกับเด็ดหัวกุ้ง แกะเปลือกกุ้ง โดยเหลือส่วนหางกุ้งไว้ และผ่าเส้นดำที่หลังกุ้งออก หลังจากนั้นต้มน้ำให้เดือด พร้อมกับนำกุ้งลงไปลวกให้พอสุก และตักขึ้นมาพักไว้
  3. ปรุงน้ำซอสสำหรับเมนูแสร้งว่าด้วยการนำน้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก น้ำตาลทราย และน้ำปลาเข้าด้วยกัน 
  4. เมื่อผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันแล้ว ให้นำกุ้งลวก พริกชี้ฟ้า หอมแดง ตะไคร้ ขิงสด และใบมะกรูดที่หั่นซอยเรียบร้อยแล้วมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  5. หลังจากคลุกเคล้าวัตถุดิบ และส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันแล้ว สามารถตักใส่จานให้สวยงาม พร้อมกับโรยหน้าด้วยใบสะระแหน่ และเสิร์ฟคู่กับปลาดุกฟู หรือผักสดได้ตามใจชอบ เพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับเมนูนี้มากยิ่งขึ้น

หมูโสร่ง

4.หมูโสร่ง

เมนูหมูโสร่ง เป็นเมนูอาหารไทยโบราณที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักกันดี เพราะได้รับกระแสมาจากละครย้อนยุคที่นำเมนูอาหารไทยโบราณหลากหลายเมนูกลับมาเผยแพร่ในปัจจุบัน โดยเมนูหมูโสร่งนั้นเข้ามาในไทยจากเรือการค้าของโปรตุเกสและจีน ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาสูตรให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนไทยมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของสูตรหมูโสร่ง เมนูอาหารไทยโบราณที่ส่งต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

วัตถุดิบ และส่วนผสม

  1. สำหรับวัตถุดิบ และส่วนผสมในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูหมูโสร่ง มีดังนี้
  2. เนื้อหมูบดละเอียด 300 กรัม
  3. เส้นหมี่ซั่วขาว ชนิดไม่เค็ม 150 กรัม/
  4. ไข่ไก่ 1 ฟอง
  5. รากผักชีโขลกละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
  6. กระเทียมโขลกละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
  7. น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  8. พริกไทยป่น ½ ช้อนชา
  9. เกลือ ¼ ช้อนชา

วิธีทำ    

  1. นำเนื้อหมูบดละเอียด ไข่ไก่ รากผักชีโขลกละเอียด กระเทียมโขลกละเอียด น้ำปลา พริกไทยป่น และเกลือ ผสมเข้าด้วยกัน โดยคลุกเคล้า และนวดจนกว่าวัตถุดิบ และส่วนผสมทั้งหมดรวมเป็นเนื้อเดียวกัน
  2. เมื่อผสมเนื้อหมู และส่วนผสมต่างๆ เข้าด้วยกันแล้วให้พักไว้ประมาณ 5 นาที ระหว่างนั้นให้นำเส้นหมี่ซั่วขาวไปจุ่มในน้ำให้พอชุ่ม และนำมาพักไว้ พร้อมกับคลุมด้วยผ้าขาวบาง เพื่อไม่ให้เส้นนั้นชุ่มน้ำจนเกินไป และไม่สามารถนำมาห่อหมูได้
  3. หลังจากนั้นปั้นหมูให้เป็นรูปทรงกลม และนำเส้นหมี่ซั่วที่จุ่มน้ำไว้ประมาณ 4-5 เส้นมาพันรอบๆ หมูที่ปั้นไว้ โดยพันให้เป็นก้อนกลมเหมือนลูกตะกร้อ
  4. ตั้งกระทะด้วยไฟปานกลาง และใส่น้ำมันลงไปให้ท่วมกระทะ รอให้น้ำมันเดือด จึงค่อยใส่หมูที่พันเส้นหมี่ซั่วแล้วลงไปทอด
  5. เมื่อทอดจนได้สีเหลืองทองแล้ว สามารถตักใส่จานให้สวยงาม พร้อมเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มไก่ หรือน้ำจิ้มบ๊วย เพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับเมนูหมูโสร่งมากยิ่งขึ้น

หลนเต้าเจี้ยว

5.หลนเต้าเจี้ยว

เมนูหลนเต้าเจี้ยว เป็นเมนูที่ยังสามารถหาทานได้ในปัจจุบัน แต่ว่าคนรุ่นใหม่หลายๆ คนอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่เคยทานมาก่อน โดยเมนูหลนเต้าเจี้ยวนั้นจัดอยู่ในประเภทเครื่องจิ้มที่จะต้องมีอยู่ในทุกสำรับ สามารถทานคู่กับข้าวสวย ผักสด หรือผักลวกได้ ซึ่งสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูหลนเต้าเจี้ยวนั้นจะเป็นกับข้าวพื้นเมืองที่เน้นกะทิ และไม่ใส่เครื่องเทศ จึงเป็นอีกเมนูที่สามารถทานได้ทุกเพศ ทุกวัย และควรลองทานเป็นอย่างมาก

วัตถุดิบ และส่วนผสม

  1. สำหรับวัตถุดิบ และส่วนผสมในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูหลนเต้าเจี้ยว มีดังนี้
  2. กะทิ 300 กรัม
  3. เต้าเจี้ยวขาว 100 กรัม
  4. หมูสับ 150 กรัม
  5. กุ้งสับ 150 กรัม
  6. หอมแดงหั่นซอย 50 กรัม
  7. พริกชี้ฟ้าหั่นซอย 10 เม็ด
  8. น้ำตาลปี๊บ 50 กรัม
  9. น้ำมะขามเปียก 50 กรัม

วิธีทำ    

  1. ตั้งหม้อด้วยไฟปานกลาง พร้อมกับใส่กะทิลงไป และเคี่ยวกะทิให้แตกมัน
  2. หลังจากนั้นนำเต้าเจี้ยวขาว และหอมแดงประมาณ 25 กรัม โขลกเข้าด้วยกัน เมื่อโขลกจนละเอียดแล้วให้ใส่ลงไปในกะทิที่เคี่ยว พร้อมกับใส่หมูสับ และกุ้งสับลงไปผัดให้พอสุก
  3. เมื่อผัดจนวัตถุดิบ และส่วนผสมต่างๆ เข้ากันและสุกแล้ว ให้ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ และน้ำมะขามเปียก พร้อมกับใส่หอมแดงซอยที่เหลือ และพริกชี้ฟ้าหั่นซอยลงไป
  4. คนวัตถุดิบ และส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน สามารถตักใส่ถ้วย หรือจัดใส่ชามให้สวยงาม พร้อมกับเสิร์ฟคู่กับผักสดตามใจชอบ เพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับเมนูหลนเต้าเจี้ยวมากยิ่งขึ้น

หลนเต้าเจี้ยว

6.น้ำพริกลงเรือ

เมนูน้ำพริกลงเรือ เป็นเมนูอาหารไทยโบราณที่คิดค้นโดยเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ที่นำเมนูอาหารต่างๆ ในสำรับมาปรุงรวมกันจนได้เมนูน้ำพริกลงเรือ ซึ่งเมนูนี้เป็นประเภทเครื่องจิ้ม สามารถทานคู่กับข้าวสวย หรือนำน้ำพริกไปคลุกกับข้าวสวยร้อนๆ ก็ได้เช่นกัน โดยมีเครื่องเคียงเป็นผักสดหรือผักลวก ปลาดุกฟู หรือไข่เค็ม นอกจากนั้น ยังหาทานได้ตามร้านอาหารไทยในปัจจุบัน หรือถ้าหากอยากจะทำทานเอง ก็สามารถหาวัตถุดิบ และส่วนผสมได้ไม่ยาก จึงเป็นอีกสูตรอาหารไทยโบราณที่พ่อครัว แม่ครัวมือใหม่ควรลองทำเป็นอย่างมาก

วัตถุดิบ และส่วนผสม

สำหรับวัตถุดิบ และส่วนผสมในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูน้ำพริกลงเรือ มีดังนี้

  1. กะปิ 50 กรัม
  2. หมูสามชั้นหั่นพอดีคำ 500 กรัม
  3. มะอึกสับละเอียด 10 กรัม
  4. มะดันสับละเอียด 10 กรัม
  5. กระเทียม 40 กรัม
  6. หอมแดงซอย 40 กรัม
  7. กุ้งแห้ง 20 กรัม
  8. น้ำตาลปี๊บ 40 กรัม
  9. น้ำมะขามเปียก 20 กรัม
  10. พริกขี้หนู 10 เม็ด
  11. น้ำปลา 1 ½ ช้อนโต๊ะ
  12. ไข่เค็ม ¼ ฟอง
  13. ใบตอง ¼ ใบ หรือฟอยล์ห่ออาหาร 1 แผ่น

วิธีทำ

  1. นำกะปิ กระเทียม และพริกขี้หนู ห่อใส่ใบตองหรือฟอยล์แล้วนำไปย่างประมาณ 5 นาที หลังจากนั้นนำมาโขลกให้ละเอียด และใส่มะอึกกับมะดันที่สับละเอียดลงไป พร้อมกับโขลกให้เป็นเนื้อเดียวกัน
  2. ตั้งกระทะด้วยไฟปานกลาง แล้วนำหมูสามชั้นหั่นพอดีคำลงไปผัดจนพอสุก ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ 20 กรัม หอมแดงซอย น้ำมะขามเปียก และน้ำปลา
  3. หลังจากผัดหมูสามชั้นเรียบร้อยแล้ว ให้นำน้ำพริกที่โขลกไว้ในขั้นตอนแรกลงมาผัดในกระทะพร้อมกับหมู เติมกุ้งแห้งลงไป และผัดให้แห้งพอประมาณ
  4. เมื่อผัดจนวัตถุดิบ และส่วนผสมต่างๆ เข้ากันแล้ว สามารถตักใส่จานให้สวยงาม พร้อมกับตกแต่งด้วยไข่เค็ม และปลาดุกฟู หรือนำไปคลุกกับข้าวสวยร้อนๆ และเสิร์ฟคู่กับผักลวก เพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับเมนูน้ำพริกลงเรือมากยิ่งขึ้น

แกงรัญจวน

7.แกงรัญจวน

เมนูแกงรัญจวน เป็นเมนูอาหารไทยโบราณที่สามารถหาทานได้ยาก และหลายๆ คนอาจจะไม่เคยทาน หรือได้ยินชื่อเมนูนี้มาก่อน โดยเมนูแกงรัญจวนนั้นได้รับการบันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเกิดขึ้นเพราะท่านหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ไม่อยากทิ้งอาหาร หรือทานอาหารทิ้งขว้าง จึงได้นำเนื้อสัตว์ และน้ำพริกกะปิที่เหลือจากสำรับมาปรุงรสใหม่ จึงทำให้เมนูนี้มีความเข้มข้น หอมเครื่องเทศ และสมุนไพร รวมถึง เป็นหนึ่งในสูตรอาหารไทยโบราณที่ทุกคนสามารถทำตามได้

วัตถุดิบ และส่วนผสม

สำหรับวัตถุดิบ และส่วนผสมในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูแกงรัญจวน มีดังนี้

  1. เนื้อวัวหั่นพอดีคำ 300 กรัม (สามารถใช้เนื้อสัตว์อื่นๆ แทนได้)
  2. ใบโหระพา 10 กรัม
  3. ตะไคร้หั่นซอย 10 กรัม
  4. ตะไคร้ (สำหรับต้ม) 10 กรัม
  5. ข่า (สำหรับต้ม) 10 กรัม
  6. ใบมะกรูด (สำหรับต้ม) 10 กรัม
  7. พริกขี้หนูสวน 5 เม็ด
  8. เกลือ 2 ช้อนชา
  9. น้ำมะนาว (สำหรับต้ม)  2 ช้อนโต๊ะ
  10. น้ำพริกกะปิ 1 ถ้วย
  • กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
  • พริกขี้หนู 10 เม็ด
  • กระเทียมปลอกเปลือก 5 กลีบ
  • น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลา ½ ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลปี๊บ ½ ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ    

  1. ตำน้ำพริกกะปิด้วยการนำพริกขี้หนูและกระเทียมมาโขลกให้ละเอียด หลังจากนั้นใส่กะปิและน้ำตาลปี๊บตามลงไป พร้อมกับโขลกจนเป็นเนื้อเดียวกัน และปรุงรสด้วยน้ำะนาวและน้ำปลา
  2. ตั้งหม้อต้มสำหรับตุ๋นเนื้อวัวหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ได้เตรียมไว้ รอให้น้ำเดือด จึงค่อยใส่เนื้อวัว ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และเกลือลงไป พร้อมกับเคี่ยวไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง
  3. เมื่อเคี่ยวจนเนื้อวัวเปื่อยแล้ว ให้ตั้งหม้อต้มใหม่และตักเนื้อวัวจากหม้อเดิมใส่ลงไป พร้อมกับใส่น้ำพริกกะปิที่ตำไว้ในขั้นตอนแรกลงไป รอจนน้ำเดือดและค่อยเบาไฟลง
  4. หลังจากเบาไฟลงแล้ว ให้ใส่ตะไคร้ซอย และพริกขี้หนูสวนลงไป พร้อมกับต้มจนได้กลิ่นหอม
  5. เมื่อต้มจนได้กลิ่นหอมแล้ว ให้ปิดไฟ พร้อมกับปรุงรสด้วยน้ำมะนาว และตกแต่งด้วยใบโหระพา สามารถตักใส่ชามให้สวยงาม พร้อมเสิร์ฟคู่กับข้าวสวยร้อนๆ เพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับเมนูแกงรัญจวนมากยิ่งขึ้น

ต้มกะทิสายบัว

8.ต้มกะทิสายบัว

เมนูต้มกะทิสายบัว เป็นเมนูอาหารไทยโบราณที่หาทานตามร้านอาหารได้ค่อนข้างยาก แต่ว่าอาจหลายๆ คนที่รู้จัก หรือคุ้นเคยกับเมนูนี้ เพราะว่าในปัจจุบันสามารถหาซื้อวัตถุดิบหรือสายบัวได้ไม่ยาก และเป็นเมนูที่มีขั้นตอนไม่ค่อยซับซ้อน นอกจากนั้น เมนูนี้ยังสามารถทานได้ทุกเพศ ทุกวัย ถ้าหากพ่อครัว แม่ครัวมือใหม่ที่อยากลองฝึกทำอาหารไทยโบราณ ก็สามารถลองฝึกทำเมนูนี้ได้เลย

วัตถุดิบ และส่วนผสม

สำหรับวัตถุดิบ และส่วนผสมในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูต้มกะทิสายบัว มีดังนี้

  1. ปลาทูนึ่ง (เอาหัวออก) 3 ตัว
  2. หัวกะทิ 100 กรัม
  3. หางกะทิ 200 กรัม
  4. สายบัวขาวปลอกเปลือก (หั่นพอดีคำ) 250 กรัม
  5. น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
  6. น้ำปลา ½ ช้อนโต๊ะ
  7. น้ำมะขามเปียก ½ ช้อนโต๊ะ
  8. หัวหอมแดงบุบ 5 หัว
  9. กะปิ 1 ½ ช้อนโต๊ะ
  10. รากผักชีสับหยาบ 1 ช้อนโต๊ะ
  11. พริกไทยเม็ด 1 ช้อนชา 

วิธีทำ    

  1. เริ่มต้นทำพริกแกงด้วยการนำกะปิ รากผักชี และพริกไทยเม็ดมาโขลกรวมกันให้ละเอียด และวางพักไว้
  2. ตั้งหม้อด้วยไฟปานกลาง ผสมหัวกะทิและหางกะทิเข้าด้วยกัน รอจนกะทิเริ่มเดือด จึงค่อยใส่พริกแกงที่โขลกไว้ในขั้นตอนแรกลงไป และคนจนพริกแกงนั้นละลาย
  3. เมื่อส่วนผสมในหม้อเดือด ให้ใส่หัวหอมแดงบุบและปลาทู ลงไปต้มประมาณ 2-3 นาที
  4. ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และน้ำมะขามเปียก คนวัตถุดิบและส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน แล้วจึงใส่สายบัวลงไป พร้อมกับปิดฝาหม้อ และต้มต่อไปอีกประมาณ 5 นาที เพื่อให้สายบัวสุกและดูดซึมน้ำแกงเข้าไป
  5. เมื่อต้มจนสายบัวสุกแล้ว สามารถตักใส่ชามให้สวยงาม พร้อมกับเสิร์ฟคู่กับข้าวสวยร้อนๆ เพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับเมนูต้มกะทิสายบัวมากยิ่งขึ้น

ผัดสามฉุน

9.ผัดสามฉุน

เมนูผัดสามฉุน หรือผัดสามเหม็น เป็นเมนูอาหารไทยโบราณที่มี 3 วัตถุดิบหลักเป็นผักที่มีกลิ่นค่อนข้างแรง ได้แก่ สะตอ กระเทียมโทนดอง และชะอม แต่ว่าเป็นผักที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยคนไทยสมัยก่อนได้มีการปรับปรุงสูตรและวิธีการปรุงอาหารเรื่อยมา จนทำให้ผัดสามฉุนนั้นมีรสชาติอร่อย และทานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น จึงเป็นอีกเมนูอาหารไทยโบราณที่ทุกคนควรลองทำ และทานเป็นอย่างมาก

วัตถุดิบ และส่วนผสม

สำหรับวัตถุดิบ และส่วนผสมในสูตรอาหารไทยโบราณของเมนูผัดสามฉุน มีดังนี้

  1. สะตอ 50 กรัม
  2. กระเทียมโทนดอง 50 กรัม
  3. ชะอม (ส่วนใบ) 50 กรัม
  4. กุ้ง 200 กรัม (สามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์อื่นๆ ได้ตามใจชอบ)
  5. ไข่ไก่ 1 ฟอง
  6. วุ้นเส้นสด 50 กรัม
  7. พริกขี้หนูสับละเอียด 10 กรัม
  8. กระเทียมสับละเอียด 10 กรัม
  9. น้ำมันหอย 1 ½ ช้อนโต๊ะ 
  10. น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  11. น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
  12. น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ    

  1. ตั้งกระทะด้วยไฟปานกลาง ใส่น้ำมันเล็กน้อยและรอให้น้ำมันเดือด จึงค่อยใส่พริกขี้หนูสับละเอียดและกระเทียมสับละเอียดลงไปผัดให้มีกลิ่นหอม หลังจากนั้นใส่กุ้งหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่เตรียมไว้ตามลงไปและผัดให้พอสุก
  2. เมื่อกุ้งหรือเนื้อสัตว์เริ่มสุกแล้ว ให้ใส่ไข่ไก่ และวุ้นเส้นตามลงไปและผัดให้เข้ากัน พร้อมกับปรุงรสด้วยน้ำมันหอย น้ำปลา และน้ำตาลทราย
  3. หลังจากผัดให้วัตถุดิบและส่วนผสมต่างๆ เข้ากันแล้ว ใส่สะตอ กระเทียมโทนดอง และชะอมลงไป พร้อมกับผัดให้วัตถุดิบทั้งหมดนั้นสุก
  4. สามารถตักใส่จานให้สวยงาม พร้อมกับเสิร์ฟคู่กับข้าวสวยร้อนๆ เพื่อเพิ่มความอร่อยให้กับเมนูผัดสามฉุนมากยิ่งขึ้นได้

 

วัตถุดิบ และส่วนผสมทำเมนูอาหารไทยโบราณ

หาซื้อวัตถุดิบ และส่วนผสมทำเมนูอาหารไทยโบราณได้จากที่ไหน?

ถ้าหากทุกคนกำลังมองหาแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบและส่วนผสมสำหรับทำเมนูอาหารไทยแบบง่ายๆ  Foodland Supermarket ที่ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา เป็นแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบและส่วนผสมที่มีให้ทุกคนเลือกซื้ออย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหารไทย หรืออาหารนานาชาติ เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องเทศ หรือพืช และผัก รวมถึงส่วนผสมต่างๆ อย่างเช่น เครื่องปรุงต่างๆ ที่มีคุณภาพระดับพรีเมียม ก็มีให้ทุกคนได้จับจ่ายใช้สอยกันอย่างครบถ้วน พร้อมกับได้วัตถุดิบ และส่วนผสมคุณภาพดีที่จะช่วยให้อาหารของทุกคนอร่อยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ถึงแม้ว่าเมนูอาหารไทยโบราณจะหาทานได้ยาก แต่ว่าทุกคนก็สามารถทำทานเองได้ที่บ้าน ด้วยสูตรอาหารไทยโบราณที่ได้นำมาฝากในบทความนี้ โดยทุกคนสามารถหาซื้อวัตถุดิบ และส่วนผสมต่างๆ หรือหาซื้ออาหารไทยโบราณได้ที่ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา Food Destination แหล่งรวมร้านอาหารไทย และร้านอาหารนานาชาติ พร้อมแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบอย่าง Foodland Supermarket ที่มีให้ทุกคนได้เลือกซื้อวัตถุดิบ และส่วนผสมกันอย่างครบครัน 
 

Related