แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้! จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์อย่างไร ให้ถูกกฏหมาย
ไม่มีกำหนดอายุ

แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้! จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์อย่างไร ให้ถูกกฏหมาย

ในปัจจุบันผู้คนส่วนมากนิยมสั่งซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ตลาดออนไลน์จึงมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากคุณคิดที่จะเริ่มต้นขายของแม่ค้าออนไลน์แล้วล่ะก็ อย่าลืมสิ่งสำคัญ คือ ต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าออนไลน์ของคุณ ซึ่งการจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง? หรือมีขั้นตอนอย่างไร? ไปดูกันเลย


สารบัญ แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้! จดทะเบียนร้านค้าออนไลน์อย่างไร ให้ถูกกฏหมาย


เมื่อต้องจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ต้องทำอย่างไร?

การจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ หรือการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากเป็นการแสดงสถานะการมีตัวตนของร้านอย่างถูกกฎหมาย มีข้อมูลร้านปรากฏในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าอีกด้วย มาดูกันว่าต้องเตรียมตัวและเริ่มทำอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบให้ชัวร์ ร้านค้าแบบไหนที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. ตรวจสอบให้ชัวร์ ร้านค้าแบบไหนที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ร้านค้าออนไลน์ที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นร้านที่มีสินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้

  • การซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter
  • การให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) 
  • การให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (WebHosting)
  • การให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านอินเทอร์เน็ต (E-Marketplace) เช่น Shopee และ Lazada เป็นต้น

เตรียมเอกสารให้พร้อม

2. เตรียมเอกสารให้พร้อม

การเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วน จะช่วยให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และราบรื่นมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้เอกสารตามประเภทบุคคลให้ถูกต้อง ทั้งเอกสารสำหรับบุคคลธรรมดาและเอกสารสำหรับนิติบุคคล ควรจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อยและครบถ้วน ซึ่งมีดังนี้ 

เอกสารสำหรับบุคคลธรรมดา

  • สำหรับร้านค้าที่มีชื่อเจ้าของเพียงคนเดียว ต้องเตรียมเอกสารสำหรับบุคคลธรรมดา ซึ่งมีดังนี้
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านผู้ประกอบการ
  • แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือ แบบ ทพ. 
  • เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอกสารแนบแบบ ทพ.
  • พิมพ์หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้าหรือบริการที่ประกอบการ และวิธีการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า
  • วาดแผนที่ตั้งสถานประกอบการ
  • กรณีมีการมอบอำนาจ ให้แนบหนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ

เอกสารสำหรับนิติบุคคล

สำหรับร้านค้าที่มีเจ้าของหรือมีการถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และมีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ต้องเตรียมเอกสารสำหรับนิติบุคล ซึ่งมีดังนี้

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านผู้ประกอบการ
  • แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือ แบบ ทพ. 
  • เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอกสารแนบแบบ ทพ.
  • พิมพ์หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้าหรือบริการที่ประกอบการ และวิธีการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า
  • วาดแผนที่ตั้งสถานประกอบการ
  • หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
  • กรณีมีการมอบอำนาจ ให้แนบหนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ

3. เช็กจุดให้บริการ ไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไหนได้บ้าง

เมื่อเตรียมเอกสารต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไป คือ การเช็กจุดให้บริการในการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสถานที่ที่ให้บริการในการจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์มีหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งมีดังนี้
เขตกรุงเทพมหานคร: สามารถไปยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขต 50 เขต ได้ตามสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ศาลาว่าการ กทม. ซึ่งครอบคลุมทั้ง 50 เขต
จังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร: สามารถไปยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ เทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ตามสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ

ดูอัตราค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย 

4. ดูอัตราค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย 

  • อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ คือ การคำนวณอัตราค่าบริการต่างๆ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมดังนี้
  • การจดทะเบียนพาณิชย์ (ตั้งใหม่) 50 บาท
  • การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการ 20 บาท
  • การจดทะเบียนยกเลิก 20 บาท

อ้างอิงข้อมูลจากขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2565

DBD Registered คืออะไร? และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้อย่างไร

DBD Registered คืออะไร? และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้อย่างไร

DBD Registered คือ เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ใช้เพื่อแสดงตัวตนในการประกอบธุรกิจออนไลน์ และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ 
นอกจากนี้ การที่มีเครื่องหมาย DBD Registered แสดงไว้บนหน้าเว็บไซต์ร้านค้า เป็นการรับประกันและสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าในการซื้อสินค้าและบริการ

DBD Verified อีกหนึ่งเครื่องหมายรับรองที่ยกระดับความน่าเชื่อถือ

DBD Verified อีกหนึ่งเครื่องหมายรับรองที่ยกระดับความน่าเชื่อถือ

DBD Verified คือ เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ ยกระดับความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างมาก โดยการที่จะได้รับเครื่องหมายนี้ ต้องจดทะเบียนเครื่องหมาย DBD Registered มาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และต้องบริหารร้านค้าออนไลน์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • ระดับ Silver (ดี): ออกให้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ผ่านคุณสมบัติ เช่น จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และได้รับเครื่องหมาย DBD Registered จัดส่งงบการเงินติดต่อกัน (กรณีเป็นนิติบุคคล) และต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  • ระดับ Gold (ดีมาก): ออกให้แก่ผู้ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เฉพาะเป็นนิติบุคคลเท่านั้น โดยผ่านคุณสมบัติ เช่น จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่า 1 ปี จัดส่งงบการเงินติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจฯ
  • ระดับ Platinum (ดีเด่น): ออกให้แก่ผู้ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เฉพาะที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น โดยผ่านคุณสมบัติ เช่น จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่า 2 ปี จัดส่งงบการเงินติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ได้รับรางวัลประกวดเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมทั้ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจฯ เป็นต้น

การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำคัญอย่างไร? ทำไมเจ้าของธุรกิจควรทำ

การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำคัญอย่างไร? ทำไมเจ้าของธุรกิจควรทำ

การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจร้านค้าออนไลน์ ทั้งยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับหลังจากการจดทะเบียนอีกด้วย ซึ่งมีดังนี้

สร้างความน่าเชื่อถือ

การจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันธุรกิจ ไม่ใช่แค่ความน่าเชื่อถือที่สร้างให้ลูกค้าและผู้บริโภคได้มั่นใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ หรือเครดิต ให้กับร้านค้าออนไลน์ ในสายตาของสถาบันการเงินอีกด้วย ทำให้จะขอสินเชื่อเงินกู้ ยื่นขอกู้เงินทุนหมุนเวียน หรือขอสินเชื่อเรื่องต่างๆ ก็สามารถใช้ทะเบียนร้านค้าพาณิชย์ยื่นเป็นหลักฐานประกอบเอกสารทางเงินได้

มีสิทธิ์เข้าอบรมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

แม้จะเป็นร้านขายของออนไลน์ หากได้รับการจดทะเบียนการค้า เจ้าของธุรกิจนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงาน มีสิทธิ์ได้เข้าอบรมตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้กำหนดไว้ เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้พัฒนาความรู้เรื่องธุรกิจ การบริหารร้านค้า และเรียนรู้เทคนิคการตลาดโดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่าย 

รัฐสามารถเก็บสถิติเพื่อดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจได้

การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐได้เก็บข้อมูลสถิติร้านค้าออนไลน์ได้ง่าย รัฐจะรวบรวมข้อมูลไปสรุปวิเคราะห์ เพื่อดำเนินการตามนโยบายทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม ทั้งการลงทุน การช่วยเหลือผู้ประกอบการ การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ และเมื่อมีข้อมูลร้านค้าออนไลน์ในฐานข้อมูลของภาครัฐแล้ว หากมีการเยียวยาในช่วงประสบปัญหาหรืออยู่ในภาวะวิกฤต พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็จะได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยานั้นๆ ด้วยเช่นกัน

ไม่ยื่นจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์มีความผิดไหม? 

ไม่ยื่นจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์มีความผิดไหม? 

หากไม่ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์การขายของออนไลน์ แน่นอนว่ามีความผิด ตาม “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2553 มาตรา 5” ซึ่งบังคับให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ดังต่อไปนี้ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์  ได้แก่

  • การซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • การบริการอินเทอร์เน็ต
  • การให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
  • การบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

จะเห็นได้ว่าการขายสินค้าออนไลน์ จึงถือว่าเป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว และใน “พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499” เป็นกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษในมาตรา 19 ระบุว่า ผู้ประกอบพาณิชยกิจผู้ใด (1) ไม่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ (2) แสดงรายการเท็จ หรือ (3) ไม่มาให้นายทะเบียนพาณิชย์สอบสวน ไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมให้ทะเบียนพาณิชย์หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และในกรณีตาม (1) อันเป็นความผิดต่อเนื่องกัน ให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

ปัจจุบันคนหันมาสนใจการทำธุรกิจออนไลน์กันมากขึ้น เพราะทำได้ง่าย อยู่ที่ไหนก็สามารถขายของได้ แต่พ่อค้าแม่ค้าหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่า หากเปิดร้านค้าออนไลน์จำเป็นต้องจดทะเบียนร้านค้าออนไลน์ หรือจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า นอกจากนี้ หลังจากมีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอ DBD Registered และ DBD Verified ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองเพิ่มความน่าเชื่อถือได้อีกด้วย แต่สำหรับร้านไหนที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์ขายของออนไลน์มีสิทธิ์ถูกปรับได้ ส่วนร้านค้าออนไลน์ร้านไหนที่กำลังมองหาขนส่งที่ครบครัน และเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ที่ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา Logistic Hub เป็นแหล่งรวมบริการขนส่งทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, J&T Express, DHL Express, Flash Express และ Fastship ช่วยให้พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ได้ทั้งความสะดวก และความรวดเร็ว 

Related