Waacking การเต้นที่ปลดปล่อยตัวตนของเพศที่ถูกกดทับในอดีต
ไม่มีกำหนดอายุ

Waacking การเต้นที่ปลดปล่อยตัวตนของเพศที่ถูกกดทับในอดีต

หลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกับการเต้นสไตล์ Waacking Dance เพราะเป็นสไตล์การเต้นที่ไม่ได้เป็นที่มองเห็นในสื่อหลักของไทยมากนัก แต่รู้หรือไม่ว่า Waacking Dance หรือ การเต้นแวคกิ้งนั้นเป็นการเต้นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ Waacking การเต้นที่ปลดปล่อยตัวตนจากการกดทับทางสังคมของเกย์ในอดีต โดยประวัติจะเป็นอย่างไร และเป็นการเต้นที่น่าสนุกแค่ไหนนั้น ไปดูกันได้เลย!


สารบัญ Waacking การเต้นที่ปลดปล่อยตัวตนของเพศที่ถูกกดทับในอดีต


Waacking Dance คืออะไร

Waacking Dance คืออะไร?

Waacking Dance หรือการเต้นแวคกิ้ง เป็นการเต้นที่แสดงออกถึงอิสระ และการปลดปล่อยสู่ความเป็นตัวของตัวเอง จุดเด่นที่สังเกตได้ของการเต้นแวคกิ้ง คือ การเหวี่ยงแขนเกือบจะตลอดเวลา ร่วมกับการใช้ร่างกายส่วนอื่นๆ เต้นไปกับเพลง ซึ่งแนวเพลงที่ได้รับความนิยมในยุคสมัยที่ Waacking Dance กำเนิดขึ้น คือ เพลงดิสโก้ใต้ดิน การเต้นแวคกิ้งในปัจจุบันจึงเป็นการเต้นกับเพลงดิสโก้ ที่มีการผสมการเต้นกับการแสดง การเล่าเรื่องผ่านท่าทางต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมได้มองเห็นเรื่องราว ความหมาย และท่วงทำนองของเพลงที่ผู้เต้นแวคกิ้งสื่อสารออกมานั่นเอง

ประวัติของการเต้นแวคกิ้ง 

รู้หรือไม่? Waacking Dance เกือบสาบสูญเพราะเอดส์ ว่าด้วยประวัติของการเต้นแวคกิ้ง 

การเต้นแวคกิ้งนั้นเริ่มต้นในช่วงคริสต์ศักราช 1970 ณ เกย์คลับใต้ดินแห่งหนึ่งในเมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เนื่องจากบริบทสังคมในยุคนั้นยังไม่มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศ เกย์คลับใต้ดินแห่งนี้จึงเป็นสถานที่เพื่อเปิดเผยความเป็นตัวเอง ที่ไม่สามารถแสดงออกได้ในที่สาธารณะ 

Waacking Dance นั้นถือกำเนิดจากเกย์ผิวดำเชื้อสายฮิสแปนิก (Hispanic) ในอเมริกา โดยภาพลักษณ์ของแวคกิ้งในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังในภาพยนตร์ฮอลลีวูด (Hollywood) อย่าง เกรทา การ์โบ (Greta Garbo) มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe) และ มาร์เลเนอ ดีทริช (Marlene Dietrich) เป็นต้น ส่งผลให้การเต้นแวคกิ้ง ได้ภาพจำของความมั่นใจ มีสเน่ห์ และสง่างาม จากนักแสดงฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงเหล่านี้อีกด้วย  

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดการระบาดของโรคเอดส์ในช่วงคริสต์ศักราช 1980 ทำให้กลุ่มคนที่บุกเบิกการเต้น Waacking Dance หรือ Original Waacker ในยุคนั้นเสียชีวิตไปด้วยโรคดังกล่าว และด้วยความที่การเต้นแวคกิ้งแพร่พลายเฉพาะในคนกลุ่มน้อย จึงทำให้ Waacking Dance หายไปจากแวดวงการเต้นราวๆ 20 ปี จนกระทั่งในปี 2003 นักเต้นที่มีชื่อว่า ไบรอัน “ฟุตเวิร์ก” กรีน (Brian “Footwork” Green) ได้นำสไตล์การเต้น Waacking กลับมาทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่ผู้ที่เต้นแวคกิ้ง อีกทั้งไบรอันก็ได้เชิญไทโรน พรอคเตอร์ (Tyrone Proctor) ซึ่งเป็น Original Waacker กลับมาถ่ายทอด และส่งต่อ Waacking Dance ให้คนทั่วโลกได้รู้จักกับการเต้นสไตล์นี้อีกครั้ง จนการเต้นแวคกิ้งเป็นที่รู้จักในหมู่ของผู้ที่ชื่นชอบการเต้นแบบสตรีท สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กว่าจะเป็นคำว่า Waack ใน Waacking Dance

กว่าจะเป็นคำว่า Waack ใน Waacking Dance

การเต้นแวคกิ้ง หรือ Waacking Dance เดิมทีแล้วผู้คนทั่วไปใช้คำว่า Punking เรียกการเต้นในสไตล์นี้ ซึ่งคำว่า Punk ในช่วงเวลานั้นเป็นคำแสลงที่ใช้เหยียดเกย์ ต่อมาคำว่า Punking ได้เปลี่ยนเป็น Whacking เพราะอิทธิพลของคอมมิค (Comic) ชื่อดังในสมัยนั้น และการใส่เสียงประกอบในคอมมิค เช่น BOOM! POW! WHACK! เป็นต้น 

คำว่า Whack คือ คำที่ใช้เป็นเสียงประกอบการเคลื่อนไหวหรือการฟาดที่รวดเร็ว กระฉับกระเฉง จึงเรียกว่า Whacking แทน Punking เรื่อยมา จนกลายเป็นคำว่า Waacking ที่คุ้นหูคุ้นตาในปัจจุบันนั่นเอง

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการเต้น Waacking

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการเต้น Waacking ก่อนจะฟาดกันแบบจัดเต็ม

สำหรับการเต้น Waacking Dance นั้นจะมีรายละเอียดที่ผู้เต้นควรรู้และทำความเข้าใจเบื้องต้น เพื่อที่จะได้เต้นสไตล์นี้ได้อย่างเต็มที่ สนุก และเพลิดเพลินทั้งผู้เต้นและผู้ชมได้มากที่สุด ซึ่งเรื่องที่ควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเต้นแวคกิ้งนั้น มีทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน 

การเป็นตัวของตัวเอง

เนื่องจากจุดเริ่มต้นของ Waacking Dance เปรียบเสมือนการเผยอัตลักษณ์ทางเพศของเกย์ในยุค 1970 การเป็นตัวของตัวเอง จึงเป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญ อีกทั้งบางท่าในการเต้นแวคกิ้งนั้น ก็เป็นท่าเต้นหรือท่าทางที่นักเต้นคิดขึ้นเองจนเป็นเอกลักษณ์ หรือเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน 

จึงมองได้ว่าการนำท่าเต้นเอกลักษณ์ของนักเต้นคนอื่นมาใช้เป็นของตนเองอย่างจริงจังโดยไม่มีการประยุกต์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบในการเต้นแวคกิ้ง เพราะหนึ่งในแนวคิดของการเต้นในสไตล์นี้ คือ การสนับสนุนให้นักเต้นได้เต้นแวคกิ้งในแบบที่เป็นตัวเองเสียส่วนใหญ่

การสื่อสารเรื่องราว ความรู้สึก และเพลงผ่านการเต้น

การเต้นแวคกิ้งนั้นเน้นการสื่อสารเรื่องราวผ่านการเต้น ผ่านการแสดงออกทางสีหน้า หรือท่าทางที่เล่าเรื่องราวในขณะเต้น โดยความรู้สึก หรือเรื่องราวของการเต้นแวคกิ้งนั้น มีตั้งแต่ความสนุกสนาน ความทรงพลัง หรือจะเป็นความโรแมนติก ความเศร้า ที่ผู้เต้นก็สามารถเต้นได้ช้าลง แสดงอารมณ์ และความแข็งแรงในท่วงท่าการเต้นได้เต็มที่เช่นกัน

การทำความเข้าใจกับเพลง

“If you don’t understand the music, you don’t understand the dance.” เป็นประโยคที่ไทโรน พรอคเตอร์ (Tyrone Proctor) ผู้เป็น Original Waacker นั้น พูดไว้เสมอเกี่ยวกับการเต้นแวคกิ้ง เพราะหนึ่งในสิ่งสำคัญของการเต้นสไตล์นี้ คือ การสื่อสารท่วงทำนองและเรื่องราวของเพลงออกมาผ่านท่าเต้น ดังนั้น การทำความเข้าใจกับเพลง ทั้งจังหวะ ทำนอง และ ความหมายของเนื้อเพลง จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากในการเต้นแวคกิ้ง

ต้นกำเนิด waacking ในไทย

เกิด Waacking Dance ในประเทศไทยได้อย่างไร

ย้อนกลับไปในยุคสมัยที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตและความคมชัดของวิดีโอในยูทูปยังไม่ดีเท่าปัจจุบัน มีนักเต้นไทยหลายคนที่ยังไม่รู้จักกับแวคกิ้ง หรือพอจะรู้จัก และสนใจการเต้นสไตล์นี้ แต่ไม่สามารถหาครูผู้สอนได้ จึงทำอะไรไม่ได้นอกจากดูคลิปภาพไม่คมชัดซ้ำแล้วซ้ำเล่าและลอกเลียนแบบท่าทางที่เห็น เพื่อให้ได้เต้นสไตล์ที่ตัวเองสนใจ จนกระทั่งมีนักเต้นชาวไทยที่ได้เรียนสไตล์ดังกล่าวจากแวดวงของกลุ่มนักเต้น Waacking โดยตรง และได้กลับมาสอน ส่งต่อสไตล์การเต้นที่น่าสนใจนี้ จนทำให้ Waacking Dance เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทย ในส่วนนี้จะพูดถึงบุคคลที่นำแวคกิ้งเข้าประเทศไทย 2 ท่านด้วยกัน

เด็บบี้ บาซู

เด็บบี้ บาซู หรือ เดบาร่าห์ ซี เวชชาชีวะ เป็นลูกครึ่งสิงคโปร์-ไทย และเป็นสมาชิกวงบาซู วงดนตรีดัง ที่ไม่มีวัยรุ่นยุค 90 คนไหนไม่รู้จักอย่างแน่นอน เด็บบี้ บาซูเป็นสายแดนซ์ตัวแม่ที่แจ้งเกิดตั้งแต่ในอัลบั้ม “BAZOO” ที่เป็นเพลงแนวป็อปแดนซ์ ในเพลง “โธ่เอ๊ย” กับท่าเต้นเป็นเอกลักษณ์ จนทำให้วงบาซูนั้นเป็นที่รู้จัก และโด่งดังไปทั่วทั้งประเทศ 

เด็บบี้ บาซู นับว่าเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ได้เรียนและรับ Waacking Dance จากนักเต้นต่างประเทศ นำเข้ามาเต้นในประเทศไทย ทำให้นักเต้นไทยที่สนใจแวคกิ้งในยุคสมัยนั้น ได้มีโอกาสเข้าถึงการเต้นสไตล์นี้มากยิ่งขึ้น เด็บบี้ บาซู เคยร่วมขึ้นเวทีแข่งเต้นในรายการ “Thailand Dance Now 2013” ร่วมกับทีม Running Groove และนำสไตล์แวคกิ้งไปเต้นในการแข่งขัน นับได้ว่าเป็นการนำเสนอ Waacking Dance ในสื่อโทรทัศน์หลัก ทำให้ผู้ชมรายการได้เห็นการเต้นสไตล์นี้มากยิ่งขึ้น 

ปันปัน นาคประเสริฐ

ปันปัน นาคประเสริฐ หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในชื่อ Pangina Heals ลูกครึ่งไต้หวัน-ไทย พิธีกรในรายการ “Drag Race Thailand” ซีซัน 1 และ ซีซัน 2 ปันปันได้รับเลือกให้เป็น Drag Queen ตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันในรายการ Drag Queen ระดับโลกอย่างรายการ “RuPaul’s Drag Race UK VS The World” ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นรายการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นครั้งแรก โดยปันปันก็ได้นำ Waacking Dance มาเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ที่ได้ประกวดในรายการ และเป็นโชว์ที่ผู้ชมนั้นชื่นชอบความสามารถของปันปันเป็นอย่างมาก 

ปันปันเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ได้รู้จักและเรียนแวคกิ้งในต่างประเทศ และนำ Waacking Dance กลับมาสอนและเผยแพร่ และทำให้นักเต้นในประเทศไทยได้มีโอกาสรู้จักและเรียนการเต้นสไตล์นี้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้ว่า Waacking Dance จะไม่ใช่การเต้นที่เห็นในสื่อหลักได้บ่อยๆ แต่ก็เป็นการเต้นที่มีประวัติที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นการเต้นที่ยึดโยงกับเอกลักษณ์สูง นอกจากนี้ การเต้นแวคกิ้งยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนที่อยากปลดปล่อยความเป็นตัวของตัวเองได้เช่นกัน สำหรับมือใหม่หัดเต้นแต่ไม่รู้จะเต้นสไตล์ไหนดี ก็อาจจะลองเต้น Waacking Dance เป็นสไตล์แรก และหาพื้นที่สำหรับฝึกซ้อมได้ที่ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา Activity Center แหล่งรวมกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึ งสตูดิโอสำหรับเต้นอย่าง Minizize Dance Studio ชั้น 2 ที่มีทั้งบริการสอนเต้น และบริการเช่าห้องเพื่อให้ผู้ที่สนใจในการเต้นได้ฝึกฝนได้อย่างเต็มที่
 

Related