วิธีตั้งราคาสินค้า ตั้งยังไงให้ได้กำไรดี แถมยังมัดใจเหล่านักช็อปตัวยง
ไม่มีกำหนดอายุ

วิธีตั้งราคาสินค้า ตั้งยังไงให้ได้กำไรดี แถมยังมัดใจเหล่านักช็อปตัวยง

เมื่อเริ่มต้นอยากขายสินค้าออนไลน์ ผู้คนมักคำนึงถึงว่า จะขายอะไรดี แหล่งขายสินค้าที่ไหนที่มีราคาถูกบ้าง เพื่อช่วยลดต้นทุน หรือคุณภาพสินค้าควรเป็นอย่างไร แต่พอถึงเรื่องการตั้งราคา ก็กลับตกม้าตาย เพราะไม่รู้ว่าการตั้งราคาสินค้าออนไลน์ต้องทำอย่างไรให้ได้กำไรดี ดึงดูดใจนักช็อป ให้อยากมาซื้อของกับเราบ่อยๆ

 

หากอยากให้ร้านคุณขายดิบขายดี และมัดใจผู้ซื้อได้ ก็จำเป็นจะต้องมีเทคนิคการขายของออนไลน์สักหน่อย บทความนี้ จะมาแนะนำสูตรและวิธีการตั้งราคาขายสินค้าออนไลน์เบื้องต้น

สูตรการตั้งราคาขายสินค้าเบื้องต้น

สูตรการตั้งราคาขายสินค้าเบื้องต้น

อยากตั้งราคาขายสินค้าให้ดี ก็ต้องมาดูกันก่อนว่าต้นทุนของสินค้านั้นมีมูลค่าเท่าไหร่? ซึ่งก็ไม่ได้ดูแค่เพียงราคาต้นทุนของสินค้าอย่างเดียว แต่ต้องนำค่าใช้จ่ายอื่นๆ มาคำนวณร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ค่าขนส่ง ค่าแรงงาน ค่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโปรโมทร้าน เป็นต้น

การตั้งราคาขายสินค้านั้นถึงแม้จะไม่ได้มีหลักสูตรตายตัว แต่การตั้งราคาตามสูตรจะช่วยทำให้การตั้งราคาแม่นยำ ช่วยวางแผนการขายได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยสูตรการตั้งราคาขายสินค้าเบื้องต้น มีดังนี้

 

สูตรการคำนวณการตั้งราคาขายสินค้า

ราคาขายสินค้า = ต้นทุน + กำไรที่ต้องการ

 

สูตร 1 ตั้งราคาจากต้นทุนของสินค้า (Markup on Cost)

ราคาขาย = ต้นทุนทั้งหมดต่อชิ้น + (%กำไรที่ต้องการ x ต้นทุน)

 

วิธีคำนวณ: ต้นทุนต่อชิ้น = 100 ต้องการขายให้ได้กำไร 15%

ราคาขายต่อชิ้น = 100 + (15% x 100) = 115 บาท

 

สูตร 2 ตั้งราคาจากราคาขายของสินค้า (Markup on Selling Price)

ราคาขาย = 100 x ต้นทุนต่อชิ้น / (100 - กำไรที่ต้องการ)

วิธีคำนวณ: ต้นทุนต่อชิ้น = 100 กำไรที่ต้องการ 15%

ราคาขายต่อชิ้น = 100 x 100 / (100 - 15) = 118 บาท

 

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงการตั้งราคาสินค้าให้ขายดี มีกำไร

ธุรกิจค้าขายออนไลน์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีเปอร์เซ็นต์การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป และหันมาจับจ่ายใช้สอยกันบนโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดผู้ค้าหน้าใหม่จำนวนมาก หากคิดจะขายของออนไลน์ทั้งทีจึงต้องวางแผนให้รัดกุม เพื่อให้ธุรกิจของคุณดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด หรือเกิดปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังตามมา เพราะฉะนั้น อย่าลืมให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆ ก่อนการตั้งราคาสินค้าสินค้าออนไลน์ ซึ่งมีดังนี้

ต้นทุน

ต้นทุน

"ต้นทุน" ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีแค่จำนวนเงินที่จ่าย เพื่อซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์มาขายเพียงเท่านั้น แต่ในการทำธุรกิจนั้น จำเป็นที่จะต้องเข้าใจและทำความรู้จักคำว่า ต้นทุนให้ดีพอเสียก่อน ความอันตรายอย่างหนึ่งของต้นทุนก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ต้นทุนแฝง" เคยไหม ขายของเท่าไรก็ดูเหมือนจะไม่ได้กำไร? นั่นอาจเป็นเพราะคุณลืมนึกถึงต้นทุนแฝงนั่นเอง

ต้นทุนแฝง (Hidden Cost) อาจเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณไม่ได้ใส่ใจ เมื่อสะสมมากๆ ก็กลายเป็นปัญหาต่อธุรกิจของคุณได้ เช่น ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่ากระดาษ เวลา การสต็อกสินค้า ฯลฯ  ดังนั้น ในการตั้งราคาสินค้าสินค้าออนไลน์ ขอบอกว่าอย่ามองข้ามรายจ่ายเหล่านี้เด็ดขาด เพราะมันสามารถส่งผลให้การค้าขายขาดทุนและสูญเงินไปอย่างน่าเสียดาย

 

กลยุทธ์ทางธุรกิจ

กลยุทธ์ทางธุรกิจ

เทคนิคการตั้งราคาขายสินค้าอีกอย่างหนึ่ง คือ การคำนึงถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการตั้งราคาสินค้านั้นต้องตั้งอย่างไรถึงจะมีความเหมาะสม โดนใจผู้ซื้อ และไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงและลงมือทำ คือ การแสดงให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่า (Value) ของสินค้าและบริการที่จะได้รับ เพื่อให้สินค้าของคุณโดดเด่น ดึงดูดใจ ด้วยราคาที่ผู้ซื้อพึงพอใจ และเต็มใจที่จะจ่าย หลักกลยุทธ์ในการตั้งราคาสินค้าสินค้าออนไลน์ ที่คุณสามารถนำไปลองปรับใช้กับธุรกิจของคุณได้ มีดังนี้

  • ตั้งราคาแบบสูงกว่าตลาด (Premium Pricing) เทคนิคการตั้งราคาสูงกว่าตลาด สามารถทำได้เมื่อคุณมั่นใจในสินค้าของตนเองว่ามีคุณภาพเทียบเท่าหรือมากกว่าคู่แข่ง และต้องเป็นสินค้าที่ค่อนข้างมีราคา เมื่อการตั้งราคาที่สูงแล้ว ส่งผลให้ลูกค้าย่อมคาดหวังในเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ภาพลักษณ์ของแบรนด์และตัวสินค้า แพ็กเกจจิง และบริการหลังการขาย
  • ตั้งราคาแบบประหยัด (Economy Pricing) กลยุทธ์การตั้งราคาแบบประหยัด เหมาะกับธุรกิจห้างร้านที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากเป็นการใช้วิธีตั้งราคาประหยัด ทำให้กำไรลดลง แต่ยอดซื้อมากขึ้น หากธุรกิจของคุณเพิ่งเริ่มต้น หรือเป็นธุรกิจค้าขายขนาดเล็ก วิธีนี้อาจไม่เหมาะ
  • ตั้งราคาแบบจับคู่สินค้าลดราคา (Bundle Pricing) กลยุทธ์การตั้งราคาแบบจับคู่สินค้าลดราคานับเป็นอีกวิธียอดนิยมที่ผู้ขายมักเลือกใช้ โดยการนำสินค้ามาจับเป็นคู่หรือเป็นเซตในราคาพิเศษ เพื่อดึงดูดใจผู้ซื้อ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้คุณขายของได้ง่ายขึ้น รวมถึงช่วยให้สินค้าที่ขายออกยากมีโอกาสขายได้
  • ตั้งราคาตามหลักจิตวิทยา (Psychological Pricing) อีกหนึ่งกลยุทธ์การตั้งราคาที่นิยมไม่แพ้กันคือ การตั้งราคาแบบอาศัยหลักจิตวิทยา คุณอาจสังเกตได้ว่าร้านค้าหลายๆ ร้าน ใช้วิธีการตั้งราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 เช่น จากราคา 200 ก็ตั้งเป็น 199 บาท ทำให้รู้สึกว่าราคาไม่แพง เพราะคนส่วนใหญ่สนใจเลขตัวหน้ามากกว่า
  • ตั้งราคาแบบรุกตลาด (Penetration Pricing) ตั้งราคาแบบรุกตลาด เป็นการตั้งราคาของสินค้าที่ผู้ขายต้องการดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้า หรือบริการตัวใหม่ ซึ่งทำการรุกตลาด โดยการตั้งราคาให้ต่ำในช่วงแรกที่นำเข้ามาขาย เมื่อมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ก็จะปรับมาเป็นราคาปกติ
  • ตั้งราคาแบบตามคู่แข่งในตลาด (Competitive Pricing) ในปัจจุบัน สินค้าที่ขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด มักจะเป็นสินค้าคล้ายๆ กัน การตั้งราคาแบบตามคู่แข่งในตลาดจึงถูกนำมาใช้ โดยจะเป็นการตั้งราคาให้เท่ากับ หรือต่ำกว่า คู่แข่ง
  • ตั้งราคาตามฤดูกาล (Seasonal Pricing) กลยุทธ์การตั้งราคาที่เห็นได้บ่อยมาก เป็นการดึงดูดผู้ซื้อโดยใช้วันสำคัญ และเทศกาลต่างๆ เข้ามามีส่วนในการตั้งราคาพิเศษเฉพาะวันนั้นๆ  เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ซื้อตั้งตารอคอยสินค้ามากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการขายอีกด้วย

ภาษี

ภาษี

บางคนอาจสงสัย ภาษีเกี่ยวข้องอะไรกับการตั้งราคาสินค้าสินค้าออนไลน์? ร้านค้าที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็แล้วแต่ จำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภาษีและการตั้งราคาสินค้า ในการคำนวณราคาขายที่มีเรื่องราวของภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องตั้งราคาแบบไม่รวมภาษีก่อน แล้วจึงคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไป

 

เมื่อถึงเวลาตั้งราคาขาย อาจจะดูเหมือนว่าผู้จดภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้กำไรน้อยกว่าผู้ที่ไม่จด แต่ทว่าผู้ขายแบบจดทะเบียนสามารถนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย และส่งสรรพากรได้ ผู้ขายที่ไม่ได้จดจึงแบกรับต้นทุนที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาขายที่ต้องมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไป อาจทำให้ผู้ซื้อเลือกซื้อเจ้าที่ราคาต่ำกว่า แต่หากผู้จดต้องการแข่งขันทางด้านราคากับผู้ที่ไม่จด ก็อาจจะทำให้ได้กำไรน้อยลง ดังนั้น คุณควรจะพิจารณาเรื่องภาษีเอาไว้ เพื่อที่ได้จะตั้งราคาให้เหมาะสม และกำไรไม่หด

การแข่งขันในตลาด

การแข่งขันในตลาด

การแข่งขันทางการค้าในปัจจุบันนับได้ว่าเป็นการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง มองไปทางไหนก็เห็นพ่อค้า แม่ค้า ขายสิ่งของคล้ายกันไปหมด แถมราคาก็ยังใกล้เคียงกันอีกด้วย ทำให้การค้าขายสำหรับผู้ค้าหน้าใหม่ท้าทายมากขึ้น เพราะฉะนั้น การตั้งราคาจึงต้องพิจารณาหลายๆ องค์ประกอบ และตั้งราคาให้สามารถแข่งขันได้ แต่ไม่ขาดทุน พร้อมสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้าและร้านค้า เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาเลือกซื้อกับคุณ

 

เทคนิคการตั้งราคาสินค้าออนไลน์ให้โดนใจนักช็อป

เทคนิคการตั้งราคาสินค้าออนไลน์ให้โดนใจนักช็อป

เมื่อเริ่มต้นขายของออนไลน์ ในยุคที่ผู้คนหันมาทำการซื้อขายในโลกออนไลน์กันมากขึ้น การเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันทางการค้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็น การสร้างอัตลักษณ์ การให้บริการ หรือการตั้งราคา เพราะหากไม่มีความรู้พอ หรือเตรียมตัวมาไม่ดี ก็อาจจะขายไม่ออก หรือขายได้เยอะแต่ เอ๊ะ…กำไรหายไปไหนหมด

ดังนั้น อย่าลืมเอาเทคนิคการตั้งราคาขายมาประยุกต์ใช้ และคำนึงถึงปัจจัยที่จำเป็น เพื่อให้การขายของคุณเฮงๆ ปังๆ

1. อย่าตั้งราคาถูกเกินไป

การตั้งราคาถูกเกินไป ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นสิ่งที่เรียกให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้านคุณ แต่จริงๆ แล้วมันอาจเป็นตัวการร้ายที่ทำลายความน่าเชื่อถือของร้าน สินค้า และบริการของคุณได้

เคยไหมเจอร้านค้าตั้งราคาขายถูกมาก ถูกกว่าร้านอื่นๆ หลายร้าน จนคุณเกิดคำถามว่า สินค้าจะดีจริงไหม? จะโดนหลอกหรือเปล่า? ส่งผลให้ท้ายที่สุด คุณตัดสินใจซื้อร้านที่ตั้งราคาสมเหตุสมผลกว่า ดังนั้น การตั้งราคาสินค้าสินค้าออนไลน์ก็ควรให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ต่ำเกินไปจนขาดความน่าเชื่อถือ

2. ตั้งราคาตามหลักจิตวิทยา

การตั้งราคาตามหลักจิตวิทยาเป็นวิธียอดฮิตที่เหล่านักขายนำมาใช้กัน แถมยังได้ผลดีไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปแค่ไหน คุณคงเคยเห็นว่า หลายๆ ร้าน มักขายสินค้าที่ลงท้ายด้วยเลข 9 ตัวอย่างเช่น ร้าน A ขายเสื้อยืดตัวละ 99 บาท กับ ร้าน B ที่ขายเสื้อยืดราคา 100 บาท คุณคิดว่าลูกค้าจะเลือกซื้อร้านไหนมากกว่ากัน? แน่นอนว่า ส่วนมากแล้วลูกค้าจะเลือกซื้อร้าน A มากกว่า แม้ราคาจะต่างกันเพียงนิดเดียว เพราะลูกค้าจะดูเลขตัวหน้า หรือหลักตัวเลขมากกว่า เรียกได้ว่า เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่นำมาประยุกต์ใช้ง่าย และได้ผลดี ในการตั้งราคาสินค้าสินค้าออนไลน์

3. ตั้งราคาสินค้ากับค่าส่งแยกกัน

กลยุทธ์ส่งฟรีใช้ได้ผลในบางกรณีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ คุณจึงต้องรู้จักตั้งราคาสินค้าและค่าขนส่ง หากคุณต้องการตั้งราคาขายของออนไลน์ผ่านช่องทาง E-commerce และบวกค่าส่งลงไปในสินค้า ต้องจำไว้ว่าผู้ซื้อในแพลตฟอร์มเหล่านี้ มักดูที่ราคาเป็นหลัก ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับร้านอื่นๆ ได้

แต่หากคุณขายผ่านทางเว็บไซต์ขายของส่วนตัว คุณสามารถบวกค่าส่งไปในค่าสินค้าได้เลย ในกรณีนี้ลูกค้าจะรู้สึกถึงความคุ้มค่ามากกว่าการเปรียบเทียบ 

 4. จัดโปรโมชันราคาให้น่าสนใจ

การจัดโปรโมชันราคาให้น่าสนใจ เป็นตัวช่วยให้ผู้ซื้อเกิดความสนใจในสินค้า และบริการมากยิ่งขึ้น โดยราคาสินค้าควรตั้งมาเผื่อโปรโมชันเหล่านี้ด้วย จะได้ไม่เข้าเนื้อตัวเอง

โปรโมชันที่นิยมก็มี การจับคู่สินค้า การลดราคา และการแถมสินค้า อย่างไรก็ตาม การจัดราคาโปรโมชันไม่ควรทำบ่อยเกินไป ควรจัดเป็นช่วงเวลาจะดีกว่า เพราะลูกค้าอาจจะไม่ยอมซื้อสินค้าคุณเมื่อปรับมาเป็นราคาปกติ

 5. ตั้งราคาตามจุดขายของสินค้า

การรู้จักสินค้าของตัวเองช่วยให้รู้จักจุดขายของสินค้า รู้จักกลุ่มเป้าหมายของคนที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการของคุณ เมื่อรู้จักว่าคุณสมบัติของสินค้าเป็นอย่างไร ใครบ้างที่น่าจะชื่นชอบสินค้าตัวนี้ กลุ่มเป้าหมายกว้างหรือแคบ จะช่วยให้คุณสามารถตั้งราคาสินค้าออนไลน์ที่เหมาะ และสมเหตุสมผล อยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ซื้อเต็มใจจะควักกระเป๋าจ่าย

 6. ตั้งราคาจากการเปรียบเทียบราคาตลาด

การตั้งราคาขายสินค้าออนไลน์จากการเปรียบเทียบราคาตลาดเป็นการตรวจสอบตลาดว่า ร้านอื่นๆ มีการตั้งราคาสินค้าอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน ไม่ควรตั้งราคาที่โดดเกินไป เพราะอาจทำให้ผู้ซื้อไม่สนใจ หรือเป็นร้านใหม่ที่เพิ่งเปิดจึงตั้งราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้ผู้ซื้อเลือกซื้อกับเจ้าที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วจากความน่าเชื่อถือ

 

ยกเว้นในกรณีที่คุณขายสินค้าที่ไม่ได้มีคู่แข่งเยอะหรือไม่มีคู่แข่งเลย ก็สามารถตั้งราคาแบบสูงกว่าตลาด (Premium Pricing) ได้

 

สำหรับพ่อค้า และแม่ค้ามือใหม่ที่อยากจะเริ่มต้นขายของออนไลน์ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การตั้งราคาขายสินค้า ซึ่งสูตรการตั้งราคาขายสินค้าเบื้องต้น จำเป็นต้องนำต้นทุน ภาษี รวมถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจมาคำนวณร่วมกัน เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม และได้กำไร แถมถูกใจลูกค้านักช็อป เมื่อได้เรียนรู้การตั้งราคาสินค้ากันไปแล้ว การส่งของให้เร็วยังเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยมัดใจลูกค้าได้เป็นอย่างดี หากนักขายมือใหม่คนใดที่กำลังมองหาสถานที่ส่งพัสดุ ที่ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา ศูนย์การค้าใจกลางย่านรัชดา ที่รวมบริษัทรับ-ส่งของไปรษณีย์ และพัสดุ เรียกได้ว่าเป็น Logistic Hub ใจกลางเมือง ที่เปิดให้บริการรับ-ส่งของตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญมีบริษัทขนส่งให้เลือกหลายเจ้า ไม่ว่าจะส่งของภายในประเทศ หรือส่งของไปต่างประเทศก็สะดวกครบครัน

Related