แชร์เทคนิคร้องเพลงให้เป็นเสียงตัวเอง ด้วย Vocal Range
ไม่มีกำหนดอายุ

แชร์เทคนิคร้องเพลงให้เป็นเสียงตัวเอง ด้วย Vocal Range

หลายคนคงต้องเคยถามตัวเองว่า ร้องเพลงยังไงให้เป็นเสียงตัวเอง? เพราะเวลาหยิบไมค์ขึ้นมาร้องเพลงทีไร ก็ต้องเผลอดัดเสียงไปตามเสียงร้องต้นฉบับทุกที แถมเวลาตัดเสียงออกก็กลายเป็นคลำไม่ถูกร้องเพลงผิดคีย์ไปเสียนั่น 


สารบัญ แชร์เทคนิคร้องเพลงให้เป็นเสียงตัวเอง ด้วย Vocal Range


ซึ่งจริงๆ แล้วการร้องเพลงที่ดีคือการที่ดึงเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองออกมา และสะท้อนผ่านเสียงเพลง ไม่ใช่การเลียนแบบการร้องให้เหมือนเพลงต้นฉบับ หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย การร้องเพลงที่ดี คือ การรู้จักเสียงตนเอง แล้วร้องปรับคีย์ หรือเพิ่มคีย์ให้เหมาะสมกับระดับเสียงของตนเอง ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้นั้นผู้ร้องก็ควรรู้จักช่วงเสียง (Vocal Range) ของตัวเองเสียก่อน

อะไรคือ Vocal Range

Octave คืออะไร ? เกี่ยวข้องอะไรกับ Vocal Range ?

ก่อนที่เราจะไปหาช่วงเสียงของตัวเองเรามารู้จัก Octave กันก่อนดีกว่า เพราะช่วงเสียงของเรานั้นจะถูกวัดค่าจากช่วง Octave ที่เราสามารถร้องได้นั่นเอง ซึ่งเจ้า Octave นั้นถ้ามองง่ายๆ คือเสียง 8 คู่จากตัว โด (C) ตัวหนึ่งไล่ไปถึง โด (C) อีกตัวหนึ่งนับเป็น 1 Octave นั่นเอง โดยวิธีการอ่านโน้ตของ Octave นั้นจะเขียนกำกับด้วยโน้ตตามด้วย Octave ที่ต้องการเช่น C3 แปลว่า เสียงโดใน Octave ที่ 3 นั่นเอง โดยโน้ตแต่ละตัวนั้นจะสามารถแทนค่าได้ดังนี้

  • โด แทนค่าสากลด้วยตัว C และแทนค่าแบบไทยด้วยเลข 1
  • เร แทนค่าสากลด้วยตัว D และแทนค่าแบบไทยด้วยเลข 2
  • มี แทนค่าสากลด้วยตัว E และแทนค่าแบบไทยด้วยเลข 3
  • ฟา แทนค่าสากลด้วยตัว F และแทนค่าแบบไทยด้วยเลข 4
  • ซอล แทนค่าสากลด้วยตัว G และแทนค่าแบบไทยด้วยเลข 5
  • ลา แทนค่าสากลด้วยตัว A และแทนค่าแบบไทยด้วยเลข 6
  • ที แทนค่าสากลด้วยตัว B และแทนค่าแบบไทยด้วยเลข 7

และอย่างที่กล่าวไป 1 Octave จะนับโน้ต 8 ตัวเช่น Octave 1 ก็จะมีโน้ต C1 D1 E1 F1 G1 A1 B1 C2  ส่วน Octave ที่ 2 จะเริ่มจาก C2   ไปจนถึง C3 นั่นเอง ทำให้ในแต่ละ Octave จะมีโน้ตคร่อมกัน 1 ตัว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเสียงร้อง Vocal Ranges ทั่วไปของคนเราจะเริ่มจาก D2 (ชายต่ำ) ไปจนถึง C6  (หญิงสูง) แต่ในบางคนก็อาจจะมีเสียงที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่านั้นได้

หาช่วงเสียงของตัวเองด้วย Vocal Ranges

เมื่อรู้จัก Octave  คุณก็สามารถทำความเข้าใจ Vocal Ranges ได้ง่ายขึ้น โดยการแบ่งกลุ่มเสียงด้วย Voice Range  นั้นเริ่มต้นมาจากการร้องเพลงประสานเสียงชาย-หญิง ทำให้ระดับโทนเสียงนั้นถูกแบ่งด้วยเพศเป็นหลัก โดยเริ่มจากเสียงที่สูงที่สุดจาก Soprano (เสียงหญิงสูง) ไปจนถึง Bass (เสียงชายต่ำ) แต่ในบางกรณีผู้หญิงบางคนก็อาจจะร้องเสียงต่ำมากอย่าง Bass ได้ เช่นเดียวกับผู้ชายบางคนเองก็สามารถร้องในช่วงเสียงระดับสูงสุดอย่าง Soprano ได้เช่นกัน ซึ่งการแบ่ง Vocal Ranges นี้ไม่มีหลักการตายตัว ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถาบัน แต่วันนี้ The Street Ratchada จะอ้างอิงโดยใช้ข้อมูลของ Harvard ที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

เสียงหญิงสูง หรือ เสียงโซปราโน (Soprano)

โซปราโน เป็นกลุ่มเสียงที่สูงที่สุดโดยจัดอยู่ในกลุ่มเสียงร้องผู้หญิงโดย Octave พื้นฐานของเสียงกลุ่มนี้จะอยู่ในช่วง C4 ไปจนถึง A5 โดยแม้นักร้องจะสามารถร้องได้สูงกว่านี้ก็จะถูกจัดอยู่นกลุ่มของ Soprano ทั้งหมด โดยนักร้องที่มีช่วงเสียงสูงกว้างมาก ๆ อาจจะร้องได้ถึง C8 เลยทีเดียว

เสียงโซปราโนเหมาะกับเพลงแบบไหน

เสียงโซปราโนเป็นเสียงที่มีความอ่อนนุ่มและกระจ่างใส ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นเสียงที่มีความโรแมนติกสูงใช้ได้ทั้งในเพลงเศร้าและเพลงรักหวาน เราจะพบเห็นเสียงแนวโซปราโนในเพลงแนวนิวเวฟ พังก์ร็อก ป็อป ไปจนถึงเพลงที่มีเนื้อเพลงที่เศร้า อย่างในเพลงแนวบัลลาด เช่นของแม่ ๆ อย่าง Mariah Carey, Adele และ Celine Dion ส่วนนักร้องชายเองเราก็มี Sam Smith และ Ed Sheeran ที่ใช้เสียงโซปราโนเพื่อสร้างอารมณ์เศร้าในเนื้อเพลงได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างเพลงที่ร้องในช่วงเสียงโซปราโน

  • "Someone Like You" ของ Adele
  • "The Power of Love" ของ Celine Dion
  • "Without You" ของ Mariah Carey
  • "Perfect" ของ Ed Sheeran
  • "Stay With Me" ของ Sam Smith

เสียงหญิงกลาง หรือ เมซโซ โซปราโน (Mezzo-Soprano)

เมซโซ-โซปราโน เป็นเสียงร้องแบบกลางของผู้หญิง จุดเด่นคือนักร้องในช่วงเสียงนี้จะมีเสียงที่แน่นกว่าเสียงโซปราโน ทำให้สามารถสะท้อนอารมณ์ที่หม่นกว่าได้ง่าย โดยช่วงเสียงร้องระดับนี้จะมี Octave ตั้งแต่ A3 ไปจนถึง F5 โดยนักร้องเสียง เมซโซ โซปราโน ยังสามารถร้องได้ถึงระดับ โซปราโน เช่นกัน

เสียงเมซโซโซปราโนเหมาะกับเพลงแบบไหน

เสียงเมซโซโซปราโนเป็นเสียงที่มีความแน่นของเนื้อเสียงมากกว่าเสียงโซปราโน ทำให้สามารถส่งอารมณ์ที่เข้มข้นขึ้นได้ง่ายกว่า สามารถใส่ลูกเล่นทางอารมณ์ได้มากในเพลงเพลงเดียว ทำให้เราจะพบเสียงเมซโซโซปราโนในเพลงที่มีความหม่น ความจริงจัง หากเทียบกับบทละครแล้ว เสียงโซปราโนมักจะใช้กับพวกนางเอกหรือตัวละครที่สูงส่งจนแตะต้องไม่ได้ แต่เสียงเมซโซโซปราโนนั้นจะถูกใช้กับตัวละครอย่าง หญิงสาวที่ตกระกำลำบาง แม่มด นางริษยา แม่ ซึ่งเป็นบทที่ต้องแสดงอารมณ์ที่ซับซ้อน ทำให้เป็นช่วงเสียงนักร้องสายดราม่าอย่าง Amy Winehouse, Whitney Houston หรือ Lady Gaga หยิบมาใช้ทำเพลงอยู่บ่อยครั้ง

ตัวอย่างเพลงที่ร้องในช่วงเสียงเมซโซโซปราโน

  • "I Will Always Love You" ของ Whitney Houston
  • "Rehab" ของ Amy Winehouse
  • "Poker Face" ของ Lady Gaga
  • "Stone Cold" ของ Demi Lovato

เสียงหญิงต่ำ คอนทราลโต หรือ อัลโต (Contralto/Alto)

เสียงกลุ่มหญิงต่ำนั้นถูกเรียกแบ่งออกเป็น 2 ชื่อ เพราะในการร้องเพลงประสานเสียงกลุ่มนี้จะถูกเรียกว่า Alto ทว่าพอถูกนำมาบรรยายนักร้องเดี่ยวหญิงที่มีเสียงทุ้มต่ำแล้วพวกเธอจะถูกเรียกว่ามีเสียงคอนทราลโตแทน โดยเสียงอัลโตนั้นจะอยู่ในช่วงโน้ตตั้งแต่ F3 ไปจนถึง D5 โดยเสียงอัลโตและคอนทราลโต นั้นถือว่าเป็นเสียงที่ใช้งานค่อนข้างยาก แถมผู้หญิงส่วนมากนั้นสามารถร้องในช่วงเสียง เมซโซโซปราโนได้อยู่แล้วทำให้เราจะเห็นนักร้องที่ร้องใช้ช่วงเสียงนี้เป็นหลักได้น้อยมาก ๆ 

เสียงอัลโตและคอนทราลโตเหมาะกับเพลงแบบไหน

เสียงคอนทราลโต หรือ อัลโต เป็นเสียงที่เข้มข้น หนักหน่วง และต่ำมากพอๆ กับโทนเสียงของผู้ชาย แต่ในบางคนที่มี Voice Range กว้างก็สามารถดันเสียงไปสู่โทนที่สูงมากๆ ได้เช่นกัน แนวเพลงที่เราอาจได้ยินเสียงแนวนี้บ่อยๆ หรือเหมาะที่จะนำมาร้อง ได้แก่ แนวแจ๊ส หรือป๊อป หากเทียบกับบทละครแล้ว เสียงโทนนี้จะใกล้เคียงกับระดับเสียงเมสโซโซปราโน เหมาะกับตัวละครที่ต้องโน้มน้าวคนดูผ่านเสียงที่น่าเชื่อถือ น่ายำเกรง เช่น บทบบาทของแม่ เทพี แม่มด หรือนักบุญหญิง เป็นต้น ซึ่งเป็นช่วงเสียงที่ตัวแม่ระดับตำนานอย่าง Tracy Chapman, Nina Simone และ Toni Braxton หรือ Elton John เองก็ใช้มัดใจคนฟังได้อยู่หมัด

ตัวอย่างเพลงที่ร้องในช่วงเสียงอัลโตและคอนทราลโต

  • “Give Me One Reason” ของ Tracy Chapman
  • “Feeling Good” ของ Nina Simone
  • “He Wasn't Man Enough” ของ Toni Braxton
  • “Your Song” ของ Elton John

เสียงชายสูง หรือเทเนอร์ (Tenor)

เทเนอร์ เป็นระดับเสียงร้องสูงสุดของนักร้องผู้ชาย โดยจะอยู่ในช่วงคีย์ C3 จนถึง B4 ซึ่งคำว่า Tenor นั้นมาจากภาษาละติน แปลว่าการควบคุม เสียงนี้จะเป็นเสียงร้องหลักของการแสดงโอเปร่า ถือว่าเป็นเสียงที่พบได้น้อย เพราะต้องเป็นผู้ชายที่มีเสียงค่อนข้างสูงมาก

เสียงเทเนอร์เหมาะกับเพลงแบบไหน

เนื่องจากเสียงเทเนอร์เป็นช่วงเสียงที่สูงมาก จึงมีความโปร่ง และใส่ในเนื้อเสียงมากตามไปด้วย เวลาฟังเสียงเทเนอร์มักให้ความรู้สึกโรแมนติก สดชื่น หรือกระปี้กระเปร่า เหมาะกับแนวเพลงป๊อป และร็อก ถ้าเทียบเป็นคาแรคเตอร์แล้วละก็ เสียงนี้จะเป็นเสียงของพระเอกเท่ห์ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย นักร้องดังที่มีช่วงเสียงเทเนอร์เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ Chris Martin, Justin Timberlake และ John Denver เป็นต้น

ตัวอย่างเพลงที่ร้องในช่วงเสียงเทเนอร์

  • “Country Road” ของ John Denver
  • “Fix You” ของ Chris Martin
  • “Can’t Stop the Feeling” ของ Justin Timberlake
  • “La Donna e Mobile” ของ Verdi’s Rigoletto

เสียงชายกลาง หรือเสียงบาริโทน (Baritone)

เสียงบาริโทน เป็นโทนเสียงผู้ชายที่พบได้มากที่สุด จุดเด่นคือความนุ่มลึกของน้ำเสียง ความเป็นธรรมชาติ ฟังดูสบายๆ ตัวเสียงนั้นมีความเล่าเรื่องสูง ให้อารมณ์ของมุมมองบุคคลที่หนึ่ง โดยเสียงบาริโทนนั้นจะมีช่วงโน้ตอยู่ในช่วง G2 จนถึง E4 

เสียงบาริโทนเหมาะกับเพลงแบบไหน

เสียงแนวบาริโทนนั้นถูกพบเห็นได้มากในนักร้อง R&B ชาย อาทิ Bruno Mars หรืออย่างราชาเพลงร็อกอย่าง Elvis Presley เองก็ร้องเพลงในช่วงบาริโทนอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนั้นเสียงบาริโทนยังเข้ากับเพลงแนวคันทรี่ที่แสนอบอุ่นไปจนถึงเพลงป็อปตลาดทั่วไป ด้วยคาแรคเตอร์เสียงที่มีความอบอุ่นเป็นกันเอง ทำให้เสียงบาริโทนในเวทีการแสดงเป็นตัวแทนของบทพระรอง หรือสามีอันเป็นที่รักอีกด้วย

ตัวอย่างเพลงที่ร้องในช่วงเสียงบาริโทน

  • “Can’t Help Falling in Love” ของ Elvis Presley
  • “All of Me” ของ John Legend
  • “When I Was Your Man” ของ Bruno Mars
  • “Too Good at Goodbyes” ของ Sam Smith

เสียงชายต่ำ หรือเสียงเบส (Bass)

เบส เป็นเสียงระดับต่ำสุดของผู้ชาย ที่ถูกเรียกว่า Bass นี้ก็เพราะเป็นการเปรียเทียบว่าเสียงของผู้ชายในช่วงนี้สามารถใช้แทนเสียงของเครื่องดนตรีเบสในวงออเครสต้าได้เลยนั่นเอง โดยช่วงเสียงนี้ถือว่าเป็นเสียงที่ต่ำกว่าเสียงพูดของคนทั่วไป โดยเสียงนี้จะเป็นเสียงที่อยู่ในคีย์ E2 จนถึง C4 

เสียงเบสเหมาะกับเพลงแบบไหน

เสียงเบสนั้นโดดเด่นในเรื่องของความหนักแน่นของเนื้อเสียง ช่วยขยายข้อความที่ต้องการสื่อสารให้ดูยิ่งใหญ่ขึ้น เวลารับบทคนดีก็จะดูเป็นคนดีมาก หากเป็นตัวร้ายก็จะร้ายบริสุทธิ์ ทำให้เหมาะกับเพลงที่ต้องการอารมณ์สูงอย่างเพลงกลุ่ม R&B, Blues และ Jazz ซึ่งนอกจากนักร้องในตำนานอย่าง Ben E. King และ Queen แล้วเรายังมี Queenof Jazz อย่าง Nina Simone เองก็วาดลวดลายในเสียงช่วง Bass เอาไว้ในบทเพลงอย่าง Feeling Good ได้อย่างยอดเยี่ยม 

ตัวอย่างเพลงที่ร้องในช่วงเสียงเบส

  • “Stand by Me” ของ Ben E. King
  • “Another One Bites the Dust” ของ Queen 
  • “Roundabout” ของ Yes
  • “Feeling Good” ของ Nina Simone

หา Vocal Range ยังไง

วิธีหา Vocal Range พร้อมสไตล์การร้องที่เหมาะสมกับตัวเอง

การหาเสียงร้องของตัวเอง อาจดูเป็นเรื่องยากของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มหัดร้องเพลง เพราะการร้องเพลงจะต้องฝึกทั้งการหายใจ การออกเสียง กริยาท่าทาง เพื่อส่งพลังเสียงและอารมณ์ให้ถึงผู้ฟัง การหาเสียงตัวเองจะช่วยพัฒนาทักษะการร้องเพลงให้ดีขึ้น ซึ่งคำว่าเสียงร้องของตัวเองนั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 2 อย่างได้แก่ ช่วงเสียง (Vocal Range) และ ตัวตน (Character) เพื่อให้เสียงร้องที่ออกมามีความเหมาะสม มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง โดยให้เริ่มหาเสียงตัวเองจากวิธีดังต่อไปนี้

วิธีหา Vocal Range ด้วยตัวเอง

หากในสมัยก่อนการหา Vocal Range ของเราอาจจะต้องหยิบกีตาร์ หรือเปิดเปียโนตัวโปรดขึ้นมาตีคอร์ดเทียบเสียง แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นทำให้คุณไม่ต้องลำบาก และยังได้ผลลัพธ์ที่เที่ยงตรง

โดยให้คุณลองอัดเสียงร้องเพลงในเพลงที่ต่ำไปสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยลองจากรายชื่อเพลงของเราที่ให้ไว้ข้างต้น (หรือจะลองหาเพลงที่คุณชอบเองก็ไม่มีปัญหา) และนำไปวิเคราะห์ด้วย Application อย่าง Voice Range Analyzer และ Singing Success หรือจะวัดใจแบบออนไลน์กับเว็บ Singing Carrots หรือ Vocal Range Calculator ก็สามารถทำได้ โดยใน 1 คนนั้นสามารถมี Vocal Range ได้กว้างกว่า 1 ช่วง โดยเฉพาะในนักร้องเก่ง ๆ บางคนก็สามารถร้องได้ตั้งแต่ Bass ไปจนถึง Soprano ได้เลยด้วยซ้ำ

ส่วนใครที่ต้องการความแม่นยำแบบมืออาชีพ เราสามารถหาขอให้ นักดนตรี หรือนักร้อง ที่เรารู้จักช่วยก็ได้ หรือจะใช้เงินแก้ปัญหาอย่างการลงเรียนคอร์สร้องเพลงเอง ก็จะมีการทดสอบ Vocal Range ก่อนเข้าบทเรียนเช่นกัน

วิธีหา Character เสียงของตัวเอง

ในเสียงของทุก ๆ คนนั้นมีตัวตนอยู่ ซึ่งเกิดจากการเลียนแบบและประสบการณ์ที่เราได้รับมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน คุณสามารถลองสังเกตได้เลยว่า คนแต่ละนิสัยนั้นมีจังหวะการพูดเป็นของตัวเอง วิธีการหายใจ และการทิ้งปลายเสียงที่แตกต่าง สิ่งที่นักร้องหลายๆ คนพลาดคือพยายามเลียนแบบคาแรคเตอร์ของผู้ร้องในต้นฉบับทำให้ร้องออกมาไม่ได้ดี หรือเมื่อร้องไม่ได้ใกล้เคียงก็เสียความมั่นใจ เพียงแค่เราหาตัวเองให้เจอเท่านั้น การร้องเพลงก็จะง่ายขึ้น

สังเกตการพูดของตัวเอง

สังเกตจังหวะพูดหรือองค์ประกอบในการใช้เสียงของเราให้ดีแทนที่จะคอยเลียนแบบว่าเราร้องเหมือนนักร้องต้นฉบับหรือยัง ให้เราเช็กกับตัวเองทุกครั้งเวลาร้องเพลงว่าเสียงที่ร้องออกมานั้นสบายไม่ทำให้เราต้องบีบหรือดัดเสียงจนเกินไป วิธีนี้จะช่วยให้ร้องเพลงได้นานโดยไม่เป็นภาระของคอ โดยสังเกตว่าในชีวิตประจำวันเวลาเราพูดและหายใจ เราใช้คอและเสียงประมาณไหน เราเปล่งเสียงด้วยวิธีการใดแล้วจึงนำมาปรับใช้กับการร้องเพลง

หาโค้ชที่คอยช่วยไกด์

การมีโค้ชที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง! โค้ชที่ดีจะช่วยแนะนำวิธีการหาเสียงร้องของตัวเองอย่างถูกต้อง ควรเลือกโค้ชที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีมาช่วยดูแล เพราะการหาเสียงของตัวเองถือเป็นการหาตัวตนในการร้องเพลงเลยก็ว่าได้ ดังนั้นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจะรู้ลำดับการหา รู้เคล็ดลับและวิธีหาเสียงตัวเอง จนถึงการช่วยขยายความกว้างของเสียงได้รวดเร็วกว่าการฝึกด้วยตนเอง

ร้องเพลงบ่อย ๆ 

โดยในช่วงแรกของการร้องเพลง แนะนำให้เลือกเพลงที่ตรงกับ Voice Range ของตนเอง โดยเหตุผลที่ควรเลือกเพลงที่ตรงกับระดับเสียงของตนเอง เป็นเพราะว่าการร้องเพลงที่อยู่ในความกว้างของเสียงตัวเอง ช่วยพัฒนาทักษะการร้องได้ดีขึ้น ไม่ฝืนร่างกายตัวเองมากเกินไป โดยหากฝึกซ้อมจนมีทักษะการร้องที่ดีขึ้นแล้ว สามารถลองขยายระดับความกว้างของเสียงให้เพิ่มขึ้นจากปกติ ให้ลองปรับคีย์ให้สูงขึ้น หรือปรับคีย์ให้ต่ำลงกว่าเดิม ฝึกร้องซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถขยายขีดจำกัดความกว้างของเสียงตัวเองได้แล้ว โดยหากใครกลัวว่าเสียงของตัวเองยังดีไม่พอที่จะร้องให้ใครฟัง ที่ The Street Ratchada เรามี คาราโอเกะส่วนตัวในบรรยากาศสบาย ๆ ให้บริการตั้งแต่ 10 โมงถึง ตี 5 อย่าง Karaoke Manekineko ที่ ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา ชั้น 4 ให้คุณได้ซ้อมร้องเพลงไม่ว่าจะมาคนเดียว หรือมายกแก๊ง ก็ช่วยให้สนุกกับการร้องเพลงได้มากขึ้นอีกระดับ !

เทคนิคในการร้องเพลง

Head Voice และ Chest Voice คืออะไร ?

โดยการต่อยอดมาจากข้อก่อนหน้า เมื่อเราสังเกตเสียงของตัวเองมาก ๆ แล้วเราจะสามารถจำแนกวิธีการใช้เสียงของเราออกเป็น 2 ประเภทได้ดังนี้

Head Voice 

เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการเรียกช่วงเสียงสูง หรือที่เรามักเรียกง่ายๆ ว่าเสียงสูง หรือเสียงสอง ซึ่งเสียง Head Voice นั้นเป็นเสียงที่ได้มาจากการทำงานของกล้ามเนื้อในกล่องเสียงชื่อ Cricothyroid Muscle โดยกล้ามเนื้อตัวนี้จะทำหน้าที่ยืดเส้นเสียงให้ยาว เพื่อให้เกิดเสียงที่สูงขึ้น เกิดการสั่นสะเทือนและก้องที่บริเวณกะโหลกศีรษะ เราจึงเรียกเสียงช่วงนี้ว่าเป็นช่วงเสียงสูง หรือ Head Voice นั่นเอง

Chest Voice 

เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการเรียกช่วงเสียงต่ำ หรือเรียกแบบเข้าใจง่ายคือ เสียงปกติที่เราใช้สนทนาในชีวิตประจำวัน เป็นเสียงที่เปล่งออกจากการทำงานของกล้ามเนื้อในกล่องเสียงชื่อ Thyroarytenoid Muscle โดยกล้ามเนื้อตัวนี้จะทำให้เส้นเสียงมีความหนา และสั้น เวลาออกเสียงจะรู้สึกได้ถึงการสั่นสะเทือนบริเวณช่วงหน้าอกอย่างชัดเจน    

ทั้ง Head Voice และ Chest Voice นั้นไม่มีการกำหนดตายตัวว่าจะต้องร้องเพลงให้ได้เสียงสูงถึงเท่าไหร่ หรือต้องเสียงต่ำเท่าไหร่ แต่การหาเสียงร้องของตัวเอง ด้วยวิธีหา Head Voice และ Chest Voice ของตัวเอง จะช่วยพัฒนาทักษะการร้องเพลงให้ดีขึ้น เพราะตัวผู้ร้องจะรู้ว่าเสียงสูงและต่ำของตัวเองสามารถไปถึงระดับไหน และนำมา Mix ปรับผสมให้เข้ากับระดับเสียงของตนเองตามความเหมาะสมของเนื้อเพลง

แชร์เทคนิคที่ช่วยให้ร้องเพลงได้ดีขึ้น

นอกจากการค้นหาวิธีหาเสียงตัวเองแล้ว ยังมีเทคนิคอะไรบ้างที่ช่วยให้สามารถร้องเพลงได้ดีขึ้น? ทาง ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดาได้รวมเทคนิค (ไม่) ลับที่ช่วยให้ทุกคนร้องเพลงได้ดีมาฝากกัน

ความเชื่อมั่น

ความเชื่อมั่นในตัวเอง ถือเป็นหลักในการร้องเพลงเลยก็ว่าได้ หลายๆ คนอาจรู้สึกไม่มั่นใจว่าเสียงร้องของเราจะเหมาะสมกับเพลงไหม? หรือเสียงที่ตัวเองร้องออกมาจะแย่มากไหม? ซึ่งหากเรามีเชื่อมั่นในตัวเองจะช่วยให้ความเกร็งลดน้อยลง อีกทั้งเป็นการเพิ่มพลังเสียงไปในตัว

ใช้ปากให้ถูกกับรูปแบบเสียง

การร้องเพลงจะต้องใช้ปากออกเสียงให้ถูกต้อง ในบางครั้งการออกเนื้อร้องบางตัวอาจต้องขยับปากเยอะมาก ทำให้เสียความมั่นใจ กังวลว่าใบหน้าของตนเองขณะที่ร้องเพลงดูน่าเกลียดไหม ซึ่งการร้องเพลงคือการสื่อสารอย่างหนึ่งที่ต้องใช้อารมณ์ ความรู้สึก สะท้อนผ่านท่าทางและเสียงเพลงออกมา ดังนั้นอย่ากังวลกับรูปปากให้มาก ให้ดึงอินเนอร์ของเราออกมาให้เต็มที่! 

การฝึกควบคุมลมหายใจ

หาเสียงร้องของตัวเอง ถือว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การฝึกควบคุมลมหายใจก็สำคัญไม่แพ้กัน การร้องเพลงไม่ได้มีแค่เสียงสูง กลาง ต่ำ แต่การร้องเพลงบางเพลงอาจจะต้องใช้เสียงสูงถึงสูงมากเป็นระยะเวลาหลายวินาทีเลยก็ได้ ซึ่งการร้องเพลงที่ถูกต้องนั้น จะต้องใช้วิธีการดึงเสียงจากกระบังช่องลม โดยเริ่มจากการหายใจให้ท้องป่องออกมาก่อน จากนั้นดึงลมออกมาสู่ช่วงปากให้เสียงออกมา แนะนำให้ฝึกร้องทีละตัวโน้ตก่อน แล้วค่อยเริ่มไปฝึกเพลงแต่ละท่อน 

ดูแลรักษาปอดให้ดี

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการร้องเพลงที่ถูกต้องนั้น จะต้องรู้จักการควบคุมลมหายใจ ปอดจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญมากในการร้องเพลง แนะนำให้เริ่มออกกำลังกาย เช่น การว่ายน้ำ หรือการเดินเร็ว จนถึงวิ่งเพื่อทำให้ปอดของเรามีกำลังในการเก็บลมมากขึ้น 

ดูแลรักษาลำคอให้ดี

ในการร้องเพลง เส้นเสียงถือเป็นอวัยวะสำคัญอย่างยิ่ง การดูแลลำคอให้ดีจะช่วยให้เสียงของเราส่งออกมาได้ชัดเจน หากมีอาการเจ็บคอ เสียงแหบ เสียงที่เปล่งออกมานั้นก็จะเพี้ยนตามไปด้วย แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นๆ หรือน้ำผึ้งเพื่อรักษาลำคอ 

การหาเสียงร้องของตัวเองนั้น มีข้อดีหลายด้านทั้งช่วยเรื่องการหาตัวตน การสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว แล้วยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง แน่นอนว่าเสียงที่ร้องช่วงแรกอาจจะยังไม่ดีพอตามที่ตั้งใจไว้ แต่ทุกๆ อย่างจะดีขึ้นได้ ต้องมีการฝึกฝน การร้องเพลงก็เช่นกัน ให้ปรับเปลี่ยนคีย์ไปเรื่อยๆ ให้เข้ากับตนเอง จนเจอเวอร์ชันที่ดีที่สุด และสำหรับใครที่กำลังมองหาห้องซ้อมร้องเพลง หรือโรงเรียนสอนร้องเพลง สามารถแวะมาที่โซน Activity Center ของศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา และลงทะเบียนเรียนกับ Playsound ชั้น 3 หรือจะซ้อมลงสนามกับคาราโอเกะชื่อดัง Manekineko ชั้น 4 ได้เลย

Related