การลงทุนทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ การสร้าง Branding ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักและส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า เพราะคู่แข่งในตลาดนั้นมีอยู่มากมาย การสร้างแบรนด์จะทำให้เกิดข้อแตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้คนจำได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มยอดขายอีกด้วย ใครที่กำลังมองหาวิธีทำแบรนด์ของตัวเอง บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับการสร้างแบรนด์ พร้อมเทคนิคการสร้างแบรนด์อย่างไรให้ธุรกิจเติบโต
แบรนด์ (Brand) คือภาพลักษณ์หรือความรู้สึกนึกคิดของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริษัท ดังนั้นการสร้าง Branding นั้นจึงหมายถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ทำให้ลูกค้าสามารถจดจำธุรกิจได้ โดยมีองค์ประกอบต่างๆ เพื่อสร้างภาพจำแก่ลูกค้า เช่น ชื่อแบรนด์ โลโก้ สโลแกน หรือใช้กลยุทธ์การเล่าเรื่องเพื่อสื่อว่าธุรกิจนั้นขายอะไร เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้น ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้ เรียกได้ว่าการสร้าง Branding ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าจะธุรกิจเล็กหรือใหญ่ควรจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
การสร้าง Branding นั้นจะทำให้แบรนด์เข้าสู่สายตาของลูกค้าได้มากขึ้น และการสร้างแบรนด์ที่ดีจะยิ่งทำให้ลูกค้ารับรู้ถึงคุณค่าของแบรนด์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจ เชื่อมโยงไปส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้วย เช่น ภาพลักษณ์ของพนักงานในบริษัท ร้านค้าที่นำสินค้าไปขาย เป็นต้น นอกจากนั้นการสร้าง Branding ยังมีข้อดีอีกมากมาย ดังนี้
เคยหรือไม่กับการที่เห็นโฆษณาสินค้าบางอย่างซ้ำๆ บ่อยๆ แล้วซื้อสินค้านั้นตามโฆษณา หรือเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งแล้วไม่เปลี่ยนใจไปซื้อแบรนด์อื่นอีก ถึงแม้ว่าจะเป็นสินค้าชนิดเดียวกันก็ตาม ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ของการสร้าง Branding ที่ช่วยให้แบรนด์เป็นที่น่าจดจำ หรือมีภาพจำที่แตกต่างจากแบรนด์คู่แข่งจนเกิดการซื้อ เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าไปใช้ครั้งแรกแล้วถูกใจ ก็จะทำให้เกิดการซื้อซ้ำจนกลายเป็นฐานลูกค้าของธุรกิจไปในที่สุด ถ้าเกิดว่าสินค้าของคุณมีขายออกแต่ไม่มีการซื้อซ้ำ นั่นหมายความว่าการสร้างแบรนด์ยังไม่ดีพอที่จะสร้างตัวตนในความคิดของลูกค้าได้นั่นเอง
ถ้าต้องซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง แต่มีให้เลือกระหว่างชิ้นที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก กับอีกชิ้นหนึ่งที่ไม่เคยได้ยินชื่อแบรนด์มาก่อน หลายๆ คนก็คงจะเลือกชิ้นที่มีแบรนด์อย่างแน่นอน เหตุผลที่ลูกค้าซื้อสินค้าที่มีแบรนด์ก็เพราะดูมีความน่าเชื่อถือ ลูกค้าจะมีความเชื่อมั่นในสินค้าที่มีแบรนด์ว่าเป็นของที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีบริการหลังการขายก็จะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นของลูกค้าได้ ส่วนสินค้าที่ไม่มีแบรนด์หรือแบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จักก็อาจถูกมองว่าเป็นของหลอกลวงได้
ในบางครั้งสินค้าชนิดเดียวกันแต่อาจมีหลายแบรนด์หรือมีคู่แข่งมากมายอยู่เต็มตลาด ซึ่งอาจมีปัญหาการสร้างภาพลักษณ์ในรูปแบบที่คล้ายกันได้ สร้างความสับสนให้กับลูกค้าว่าภาพลักษณ์แบบนี้คือของแบรนด์ไหนกันแน่ ดังนั้นการสร้าง Branding ที่ดีจะช่วยให้ลูกค้ามองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์ตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อและการกลับมาซื้อซ้ำของลูกค้านั่นเอง
ถ้าหากธุรกิจมีการสร้าง Branding ที่ดีและชัดเจน จะทำให้ไม่ต้องเสียเวลากับการอธิบายตัวตนของแบรนด์และการกำหนดกลุ่มเป้าหมายอีก การจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงทำได้อย่างง่ายดาย เพราะลูกค้ามีการรับรู้ต่อแบรนด์เป็นอย่างดีอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังสามารถโฟกัสไปที่การวางแผนการตลาดและการสร้างยอดขายได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
การสร้าง Branding ไม่เพียงแต่จะสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้าแล้ว แต่ยังสร้างการรับรู้ในองค์กรธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย เพราะ Branding จะทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจอัตลักษณ์ของแบรนด์อย่างชัดเจน มีเป้าหมายร่วมกัน จึงสื่อสารออกมาในลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือสอดคล้องกันนั่นเอง
ความสำคัญของการทำแบรนด์คือเพื่อให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักและเกิดเป็นภาพจำกับลูกค้า ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมีกลยุทธ์แตกต่างกันไป เช่น การออกแบบโลโก้ให้สะดุดตา การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ให้เกิดการมองเห็นอย่างซ้ำๆ หรือการสร้างเรื่องราวเพื่ออธิบายว่าธุรกิจนั้นทำอะไร เป็นต้น แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นจะต้องรู้ขั้นตอนวิธีทำแบรนด์ของตัวเองเสียก่อน มาดูกันว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ก่อนที่จะเริ่มสร้างแบรนด์ การเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ตลาดนั้นเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำเลยก็ว่าได้ ลองทำความเข้าใจกับสินค้าของตัวเองก่อนว่ามีจุดขายอยู่ตรงไหน มีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไร แล้วนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด เพื่อวิเคราะห์ว่ามีอะไรบ้างที่ควรพัฒนาปรับปรุง นอกจากนั้นการเก็บข้อมูลจะช่วยให้รู้ได้ว่าลูกค้ามีมุมมองต่อแบรนด์หรือสินค้าที่จะขายอย่างไร นำไปสู่การพัฒนาแบรนด์เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
ถ้าอยากให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าได้อย่างง่ายดายก็ต้องตั้งกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ลองสำรวจดูว่ากลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นเขาเป็นใคร อายุเท่าไร อาศัยอยู่พื้นที่ไหน มีไลฟ์สไตล์อย่างไร จะช่วยทำให้การสื่อสารของแบรนด์เป็นไปได้ง่ายขึ้น และสามารถกำหนดทิศทางการวางกลยุทธ์ทางการตลาดได้ตรงจุดและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้นด้วย ส่งผลให้ลูกค้ารู้จักและเข้าใจในแบรนด์ได้มาก ช่วยสร้างยอดขายที่ดีได้
เมื่อเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว มาถึงขั้นตอนการออกแบบแบรนด์กันบ้าง ให้ลองคิดว่าการสร้างแบรนด์ก็คือการสร้างมนุษย์คนหนึ่ง แล้วลองคิดตามว่าอยากให้มนุษย์ที่สร้างขึ้นมานี้มีบุคลิกภาพอย่างไรบ้าง พอเริ่มเห็นภาพแล้วก็จะนำไปสู่การออกแบบแบรนด์ ทั้งสีของแบรนด์ โลโก้ ตัวอักษร รวมถึงภาพรวมของแบรนด์ว่าอยากให้กลุ่มเป้าหมายมองว่าแบรนด์เป็นอย่างไร อีกทั้งยังควรเลือกการออกแบบที่บ่งบอกถึงสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจนด้วย การออกแบบแบรนด์นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้น ถ้าแบรนด์ออกแบบมาได้ดี เพียงแค่ลูกค้าเห็นโลโก้ก็จะสามารถนึกออกได้ทันทีว่าเป็นแบรนด์อะไร
ในตลาดนั้นมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ยิ่งเป็นสินค้าหรือบริการที่มีหลายเจ้าในตลาด ยิ่งต้องสร้างจุดเด่น หรือเอกลักษณ์ของตัวเอง ให้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง ลองสำรวจว่าคู่แข่งเขามีกลยุทธ์อย่างไร มีวิธีสื่อสารกับลูกค้าอย่างไรเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของตัวเอง และที่สำคัญอีกอย่างคือ อย่าลืมฟังเสียงจากลูกค้าว่ามีการตอบสนองต่อแบรนด์อย่างไร การเปรียบเทียบกับคู่แข่งบวกกับการรับฟังเสียงของลูกค้า ก็จะทำให้แบรนด์ออกมาแตกต่างและมีเอกลักษณ์โดดเด่นขึ้นมาได้
หลังจากที่รู้แล้วว่าแบรนด์มีอัตลักษณ์อย่างไร และกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร คราวนี้มาถึงการสื่อสารกับลูกค้าว่าจะใช้ช่องทางใดบ้าง เพราะการสื่อสารกับลูกค้าจะเป็นตัวสะท้อนว่าแบรนด์เป็นอย่างไร และเป็นการโปรโมตสินค้าและบริการของแบรนด์ ซึ่งก็มีให้เลือกหลายช่องทาง ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ เป็นต้น โดยเลือกช่องทางการสื่อสารให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด อย่างในปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่จะใช้สื่อออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก แบรนด์สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ด้วยการสร้างคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าทุกแบรนด์จะสื่อสารกับลูกค้าผ่านสื่อออนไลน์แล้วจะประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด บางแบรนด์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ถนัดกับสื่อออนไลน์ ก็สามารถใช้ช่องทางผ่านโทรทัศน์จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า
การยึดมั่นในจุดยืนของแบรนด์ ไม่เปลี่ยนไปมาตามกระแสนิยม จะช่วยให้ตัวตนและภาพลักษณ์ของแบรนด์มีความชัดเจน ลูกค้าจะมองเห็นถึงคุณค่าของแบรนด์ที่มุ่งมั่นตั้งใจสร้างขึ้นมา สามารถจดจำและนึกถึงแบรนด์ได้เป็นอันดับแรกๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าแบรนด์จะไม่สามารถนำเสนอกับลูกค้าในรูปแบบอื่นได้เลย บางครั้งการสร้างคอนเทนต์หรือสร้างแคมเปญโฆษณาตามกระแสนิยมนั้นสามารถใช้ได้ แต่ควรใช้ในช่วงระยะสั้นๆ และควรนำเสนออย่างเป็นระเบียบ ไม่สะเปะสะปะไปมา และไม่หลุดจากจุดยืนของแบรนด์ ไม่อย่างนั้นการสร้าง Branding ที่ตั้งใจทำมาทั้งหมดอาจไม่ประสบความสำเร็จได้
จริงๆ แล้วทุกธุรกิจควรมีการสร้าง Branding เพื่อแสดงถึงตัวตนของแบรนด์และสร้างการรับรู้ของลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ควรจะสร้าง Branding ที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตกว่าเดิมมากยิ่งขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงพอเข้าใจกันไปแล้วว่าการสร้าง Branding คืออะไร โดยความสำคัญของการสร้างแบรนด์คือจะช่วยให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รับรู้และเกิดภาพจำในกลุ่มลูกค้าได้ เมื่อลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ก็จะสามารถกระตุ้นยอดขายและเกิดฐานลูกค้าของแบรนด์ได้นั่นเอง สำหรับผู้ที่ต้องการทำแบรนด์ของตัวเอง ควรเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ทั้งข้อมูลสินค้าของตัวเอง คู่แข่ง และลูกค้าเสียก่อน จากนั้นเซ็ตกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วเริ่มการออกแบบแบรนด์ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของแบรนด์และสร้างความแตกต่างในตลาด ต่อมาให้กำหนดช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าที่เหมาะสม และที่สำคัญคือควรยึดมั่นในจุดยืนของแบรนด์เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าของแบรนด์นั่นเอง
เรื่องของการสร้าง Branding ยังมีรายละเอียดที่ลงลึกได้อีกมาก ใครที่ต้องการพื้นที่ในการทำงานและแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องการสร้างแบรนด์ได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน สามารถมาได้ที่ WorkWize: Co-working Space และ Serviced Office ตลอดจนคาเฟ่ และพื้นที่นั่งทำงานกลางคืน ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ณ ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา แหล่งรวมกิจกรรมไลฟ์สไตล์คนเมือง