งีบกี่นาทีดี? รู้จัก Power Nap ระยะเวลาในการงีบหลับ ให้ตื่นมาไม่เบลอ
ไม่มีกำหนดอายุ

งีบกี่นาทีดี? รู้จัก Power Nap ระยะเวลาในการงีบหลับ ให้ตื่นมาไม่เบลอ

รู้หรือไม่ว่าการนอนพักสั้นๆ ถือเป็นการเพิ่มความสดใส เพิ่มสมาธิในการทำงาน นี่เป็นเทคนิคการนอนที่เรียกว่า Power Nap การนอนระยะสั้นแบบนี้เหมาะกับผู้ที่รู้สึกอ่อนเพลียขณะทำกิจกรรม โดย power nap คือการนอนหลับในช่วงเวลาสั้นๆ แต่สามารถทำให้ร่างกายได้พักผ่อน และชาร์จแบตจนเต็มให้ร่างกายกลับกระปรี้กระเปร่าได้อีกครั้ง แต่การนอนหลับแบบ Power Nap  จะมีรายละเอียดอย่างไร ไปติดตามกันได้ในบทความนี้เลย


สารบัญ งีบกี่นาทีดี? Power Nap ระยะเวลาในการงีบหลับ ให้ตื่นมาไม่เบลอ


Power Nap คืออะไร?

Power Nap หรือ Cat Nap อาจเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่ออย่าง การนอนหลับ Stage 2 เนื่องจากการนอนลักษณะนี้จะไม่ใช่การนอนหลับระยะยาว แต่ใช้ระยะเวลาในการนอนเพียงสั้นๆ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเติมพลัง และรีเฟรชตัวเองให้กลับมาสดชื่นมากขึ้น นอกจากนี้สำหรับใครที่กำลังปรับเวลานอนของตัวเองอยู่การทำ Power Nap ยังช่วยลดความง่วงที่เกิดจากความไม่เคยชินจากการปรับเวลานอนได้ด้วย

การงีบแบบ Power Nap ใช้เวลากี่นาที?

ใครที่กำลังสงสัยว่า Power Nap ที่กำลังพูดถึงนี้ต้องใช้เวลางีบกี่นาทีดี คำตอบคือไม่ควรเกิน 20 นาที โดยเป็นการนอนในช่วง Stage ที่ 2 หรือเป็นช่วงก่อนหลับลึก ซึ่งการนอนในช่วงนี้จะช่วยกระตุ้นการตื่นตัว และเพิ่มความคล่องตัวเมื่อตื่นอีกด้วย เพราะว่าการนอนในช่วงถัดไปที่เรียกว่า การหลับลึก หรือการใช้ระยะเวลานอนที่นานกว่านี้จะทำให้ร่างกายรู้สึกเฉื่อยช้า มึนงง และไม่กระฉับกระเฉงเมื่อคุณรู้สึกตัว

ทำไมการตื่นนอนระหว่างหลับลึกถึงส่งผลเสีย?

การนอนแบบ Power Nap เป็นการงีบหลับในช่วงสั้นๆ และตื่นนอนก่อนเข้าสู่ช่วงหลับลึก ซึ่งมีประโยชน์และข้อดีอย่างที่เราได้กล่าวไป แต่การตื่นนอนระหว่างหลับลึกกลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม คือ ทำให้ร่างกายของเราพักผ่อนไม่เต็มที่ ประสิทธิภาพในการนอนต่ำ รู้สึกงัวเงีย และไม่สดชื่นหลังจากตื่นนอน อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น 

การงีบแบบ Power Nap สามารถได้ผลกับทุกคนไหม?

จริงๆ แล้วการนอนระยะสั้นเป็นการให้ร่างกายได้พักผ่อนชั่วคราว และรีเฟรชความรู้สึกใหม่ให้พร้อมกับการเรียน ทำงาน หรือกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ อย่างไรก็ตาม การนอนแบบ Power Nap ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ในรูปแบบเดียวกันกับผู้ที่โรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ดังนี้

  • โรคการนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic Insomnia): คนไข้ที่มีอาการจะมีความกังวลกับการนอน หรือพบการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการไข้ หรือปวดท้อง ที่อาจรวมหลากหลายปัจจัยเข้าไว้ด้วยกัน และทำให้การนอนมีปัญหา
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea): ภาวะนี้เกิดจากการอุดกั้นช่องทางเดินหายใจ หรืออุดกั้นเพียงบางส่วนก็ตาม เหตุนี้ทำให้ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจมีช่องทางหายใจสั่นจนเกิดเสียง ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่จะสร้างเสียงรบกวนทำให้ผู้ที่นอนข้างๆ รู้สึกรำคาญได้ 

How to อยากงีบหลับแบบ Power Nap ให้ตื่นมาสดชื่น ต้องทำอย่างไร

ใครที่เริ่มสนใจ และอยากลองนำเทคนิคการนอนแบบ Power Nap ไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มความสดชื่นระหว่างวัน และเพิ่มสมาธิในการทำงานกันแล้ว เนื้อหาส่วนนี้ได้รวบรวมทุกเทคนิคในการนอนระยะสั้นมาไว้ให้ทุกคนแล้ว

ตั้งเวลาปลุก

ก่อนที่คุณจะนอน อยากให้ตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ที่ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณจะไม่เผลอนอนเกินโควตาของการนอนแบบ Power Nap เพราะหากคุณนอนเกิน และเผลอตื่นในช่วงที่หลับลึกอาจทำให้เกิดผลเสียกับร่างกายได้ด้วยนั้นเอง

ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อน Power Nap 

Power Nap เป็นเทคนิคการนอนระยะสั้นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และยังมีอีกหลากหลายชื่อเรียกอย่าง Coffee Nap, Caffeine Nap หรือ Nappuccino โดยการนอนเหล่านี้จะมีเทคนิคที่เป็นตัวช่วยก่อนก่อน คือ การดื่มกาแฟ เนื่องจากเวลาที่คุณนอนร่างกายจะมีการปล่อยสารอะดีโนซีน (Adenosine) ทำให้ร่างกายรู้สึกง่วง และพร้อมที่จะนอนหลับ ยิ่งใครที่เหนื่อยล้ามามากๆ สารชนิดนี้จะยิ่งผลิตเยอะขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน และฟื้นฟูตัวเองให้เต็มที่ 

แต่การทำ Coffee Nap จะเป็นการใช้คาเฟอีน (Caffeine) ไปยังยั้งการทำงานของสารอะดีโนซีนไม่ให้ไปทำงานกับสมอง ส่งผลให้หลังจากที่คุณตื่น ร่างกายจะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และพร้อมสำหรับการจดจ่ออยู่กับการทำงาน การบ้าน หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ 

เลือกเวลาให้เหมาะสม

Power nap หรือ การงีบช่วงสั้นๆ ไม่ควรทำในช่วงตอนเย็น เนื่องจากอาจส่งผลต่อการนอนในเวลากลางคืนของคุณได้ ดังนั้น จึงควรเลือกเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการทำ Power Nap และไม่ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการนอนในเวลากลางคืนด้วย ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการนอนระยะสั้น คือ ช่วงบ่ายของวัน 

อย่ามองข้ามสภาพแวดล้อม

แม้ว่าการนอนแบบ Power Nap จะมีช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ ราว 15-20 นาที แต่การจะนอนหลับให้ดี และมีประสิทธิภาพต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การมีสภาพแวดล้อมในการนอนที่ดี ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ทำให้นอนหลับได้ง่าย และพักผ่อนได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน โดยองค์ประกอบในการนอนที่ควรให้ความสำคัญ มีดังนี้ 

  • แสง: ควรหาสถานที่ที่มีแสงสลัวๆ โทนอุ่นใกล้เคียงกับธรรมชาติ เพราะจะช่วยสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย เหมาะแก่การนอน
  • อุณหภูมิ: อุณหภูมิประมาณ 17–25 องศาเซลเซียส  จะช่วยทำให้ผู้ที่นอนหลับได้ยาก รู้สึกเย็นสบาย และหลับได้ง่ายมากขึ้น 
  • เสียง: การหาเพลย์ลิสต์เสียงธรรมชาติอย่างเสียงน้ำตก เสียงฝนตก หรือเสียงนกร้องเบาๆ ก็สามารถช่วยให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม เหมาะแก่การสร้างสภาพแวดล้อมในการนอนได้ดีเลยทีเดียว 
  • กลิ่น: การหาสมุนไพร หรือดอกไม้อย่างดอกลาเวนเดอร์มาวางไว้ในสถานที่ที่ใช้พักผ่อน ก็จะช่วยทำให้คุณรู้สึกสงบ และปรับสมดุลร่างกาย ทำให้หลับได้ง่าย และเร็วขึ้น 

รวมประโยชน์ที่ได้จากการรงีบหลับระหว่างวัน

หลายครั้งที่การพักงีบระหว่างการทำงาน หรือระหว่างเรียน ถูกตีตราว่าเป็นลักษณะของคนขี้เกียจ และไม่เอาการเอางาน ในทางกลับกัน การได้นอนพักผ่อนในช่วงเวลาสั้นๆ หรือ Power Nap สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมอง โฟกัสกับกิจกรรมตรงหน้าได้เต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการรีเฟรชร่างกายอีกด้วย ซึ่งการนอนแบบ Power Nap มีประโยชน์มากมาย ดังนี้

ความสามารถในการจดจำดีขึ้น

มีการทดลองเพื่อวัดความสามารถในการจดจำ โดยแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกได้นอนก่อนเริ่มทำการทดสอบเป็นเวลา 10 นาที ในขณะที่อีกกลุ่มไม่ได้ทำ ผลลัพธ์คือผู้เข้าร่วมการทดสอบกลุ่มแรกนั้นมีความจำที่ดี และแม่นยำมากกว่ากลุ่มที่สองที่เริ่มการทดสอบเลยโดยไม่มีการนอนก่อนทดสอบ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่ว่าหากเผลอนอนหลับมากกว่า 20 นาที ซึ่งเป็นช่วง Stage 2 ของการนอนไปแล้วนั้น จะส่งผลลัพธ์ตรงกันข้าม คือ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง

ลดความดันเลือด

การนอนหลับระยะสั้นช่วยลดความเครียด และผ่อนคลายสมอง อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคร้ายแรงอย่างโรคความดันโลหิต และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะเห็นได้ว่าการนอนพักสั้นๆ ไม่ได้ส่งผลต่ออารมณ์ในการทำงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลกับสุขภาพร่างกายในแง่ของการป้องกันการเกิดโรคได้อีกด้วย

ลดความตึงเครียดระหว่างวัน

จากสถิติของการทดลองนอนระยะสั้นในหมู่พนักงาน พบว่าการนอนงีบหลังจากเจอปัญหา หรือการประชุมที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด สามารถลดภาวะความเครียด และรีเฟรชอารมณ์ได้จริง ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ที่ทำได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้นอนงีบอย่างชัดเจน 

เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า

บทความนี้ได้เน้นย้ำข้อดีของการงีบหลับในช่วงสั้นๆ ว่าช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น และตื่นตัวเป็นพิเศษ แต่เพื่อให้เห็นภาพกันมากขึ้นจากการศึกษาการงีบแบบ Power Nap ในหมู่ทหารจำนวนหนึ่ง ผลการทดลองพบว่าทหารที่ได้นอนหลับเป็นเวลา 10-15 นาที มีความกระตือรือร้น มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น และพร้อมฝึกมากกว่าทหารที่ไม่ได้งีบพักนั้นเอง 

พัฒนาศักยภาพความคิดสร้างสรรค์

แน่นอนว่าการงีบหลับระหว่างวันช่วยทำให้สมองปลอดโปร่ง และสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ ในแง่ของการใช้ความคิดสร้างสรรค์จึงทำได้ดียิ่งขึ้น หากใครที่ทำงานคลุกคลีในวงการที่ต้องผลิตงานสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา การได้งีบนอนสั้นๆ ระหว่างทำงานถือเป็นไอเดียที่ดีเลยทีเดียว 

เพิ่มกำลังใจในการทำงาน

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานกันยาวๆ ต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง เชื่อว่าระหว่างที่ทำงานต้องเจอเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่บั่นทอนกำลังใจในการทำงานอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่การได้พักผ่อนในช่วงเวลาหนึ่ง สามารถช่วยให้สมองได้พักผ่อน และผ่อนคลายความตึงเครียดได้ดี โดยสังเกตได้ว่าคุณจะรู้สึกมีกำลังใจ และพร้อมในการทำงานมากขึ้นหลังจากที่คุณตื่นจากการนอนระยะสั้นๆ 

ระหว่างวันควรงีบหลับกี่นาที

การนอนแบบ Power Nap คือ การงีบหลับสั้นๆ ประมาณ 15-20 นาที แต่เพื่อเข้าใจเชิงลึก และเห็นประโยชน์ของการนอนในช่วงเวลาต่างๆ มากขึ้น เนื้อหาส่วนนี้จะพาไปเจาะลึกกับการพักผ่อนในแต่ละช่วงเวลาว่าช่วงใดที่เป็นช่วงพักผ่อนที่แนะนำ และช่วงใดที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้

  • 10-20 นาที - เหตุผลที่ทำให้ผู้คนเรียกช่วงเวลาแห่งการงีบหลับในช่วง 10-20 นาทีแรกนี้ว่า Power Nap เพราะว่าหลังจากที่คุณตื่นจะรู้สึกสดชื่น ร่างกายกระปรี้กระเปร่า และสมองปลอดโปร่ง พร้อมสำหรับการทำกิจกรรมตรงหน้ามีสมาธิจดจ่อได้ดียิ่งขึ้น การนอนในช่วงเวลานี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ non-rapid eye movement (NREM) ที่ร่างกายยังไม่หลับลึก เหมาะอย่างมากกับการรีเฟรชตัวเองระหว่างวันที่คุณเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า และต้องการบูสสมองให้พร้อมสำหรับการเรียน หรือทำงาน
  • 30 นาที - เป็นระยะเวลาที่เริ่มส่งผลเสียกับร่างกาย เนื่องจากการตื่นหลังจากที่ใช้เวลางีบราว 30 นาทีนี้จะทำให้คุณรู้สึกงัวเงีย ไม่สดใส มึนงงเหมือนกับคนนอนไม่เต็มอิ่ม ที่สำคัญ คือ อาการวิงเวียงที่เกิดขึ้นนั้นต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 30 นาที กว่าจะหายกลับเป็นปกติ ใครที่เผลอนอนยาวเลยมาในช่วงนี้ ถือว่าเสียเวลาในการพักผ่อน และต้องใช้เวลานาน เพื่อรอให้ร่างกายกลับมาพร้อมทำงาน 
  • 60 นาที - เหมาะกับผู้ที่ต้องทำกิจกรรมที่ใช้ความจำเป็นพิเศษ หรือต้องการจดจ่อกับงานได้แบบยาวๆ การนอนโดยใช้ระยะเวลา 60 นาทีดูเป็นทางเลือกที่ดี และตอบโจทย์ไม่น้อย การนอนในช่วงนี้ถูกเรียกว่า slow-wave sleep หรือ การหลับลึกระยะสั้น แน่นอนว่าหลังจากที่ตื่นจะยังมีอาการง่วง แต่สมองของคุณจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกับระบบการจดจำที่ดียิ่งขึ้น 
  • 90 นาที - ส่งท้ายกับการงีบที่ยาวนานที่สุด คือ 90 นาที การงีบลักษณะนี้เหมาะอย่างมากกับผู้ที่ต้องการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นพิเศษ และไม่ต้องการตื่นมางัวเงียเหมือนกันกับการช่วงการนอนในระยะเวลา 30 นาที หรือ 60 นาที เพราะการนอน 90 นาที ถือเป็นการนอนครบรอบ ในบางคนอาจเกิดฝันระหว่างที่หลับได้เช่นเดียวกัน ทำให้หมดห่วงเรื่องอ่อนเพลีย หรือมึนงงหลังจากตื่นนอนไปได้เลย 

สรุป

ทั้งหมดนี้ คือ การงีบหลับแบบ Power Nap ระหว่างวันที่เป็นหนึ่งในเทคนิคการเพิ่มความสามารถในการทำงานของร่างกาย รีเฟรชสมองให้ปลอดโปร่ง ลดความเครียด และพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมตรงหน้าได้อย่างเต็มที่ เมื่อสมองพร้อม ร่างกายสดชื่น แต่คุณยังขาดพื้นที่ในการทำงานดีๆ และกำลังมองหา Co-working Space ที่พร้อมเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ขอแนะนำ Activity Center ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดา ที่อัดแน่นไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันในที่เดียว และยังมีบริการตู้นอนให้คุณได้พักงีบระหว่างทำงานได้อีกด้วย

Related