The Street Share: ระวัง 9 วายร้าย โรคที่มากับหน้าฝน ฤดูที่นอกจากจะทำให้คนเหงาแล้ว ยังทำให้เป็นโรคได้อีกด้วย มาดูวิธีป้องกันโรค และการรับมือกับฤดูฝน 9 โรคที่มากับหน้าฝน พร้อมวิธีป้องกันโรค และวิธีรับมือกับฤดูฝน
ไม่มีกำหนดอายุ

9 โรคที่มากับหน้าฝน พร้อมวิธีป้องกันโรค และวิธีรับมือกับฤดูฝน

หน้าฝน ฤดูคลายร้อน นอกจากจะต้องเตรียมตัวรับอากาศเย็นสบายแล้ว เรายังต้องเตรียมรับมือกับ 9 โรคร้าย ที่มากับหน้าฝนด้วย มาดูกันว่าในช่วงหน้าฝนแบบนี้ จะต้องระมัดระวังอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวป้องกันตนเองอย่างไร ให้รอดพ้นจากโรคที่มากับหน้าฝนได้อย่างปลอดภัย ได้ในบทความนี้กันเลย  

9 วายร้าย! โรคที่มากับหน้าฝน พร้อมวิธีป้องกันโรค และวิธีรับมือกับฤดูฝน


หน้าฝน ฤดูแห่งโรคร้ายที่มากับน้ำ

แน่นอนว่าในช่วงที่ฝนตกผู้คนต่างระมัดระวังตัวเองกันเป็นพิเศษอยู่แล้ว เนื่องจากอุณหภูมิจะแปรปรวนก่อนฝนตก อาจทำให้ผู้คนไม่สบายได้ ทั้งนี้ยังมีเชื้อโรคที่มาพร้อมกับหน้าฝน ที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว รวมทั้งลมฝนยังพัดเอามลภาวะต่างๆ เข้ามาสู่ร่างกายของเราได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำฝนโดยตรง หรือการเดินลุยน้ำฝน เพื่อป้องกันโรคร้ายดังกล่าว

9 โรคที่มากับหน้าฝนควรระวัง! พร้อมวิธีป้องกันโรค

โรคที่มากับฤดูฝนนั้นอันตรายอย่างยิ่งต่อตัวเรา มาดูว่าโรคต่างๆ นั้นมีอาการอย่างไร และสาเหตุของการเกิดโรคนั้นคืออะไร พร้อมวิธีป้องกันโรคได้ดังนี้ 

1. โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม

1. โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม

โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวม เป็นหนึ่งในโรคที่มากับหน้าฝน โดยผู้ที่ติดเชื้อจะหายใจได้ไม่เต็มที่ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่าย มีไข้สูง ไอมีเสมหะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และอ่อนเพลียง่าย มีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในระหว่างการหายใจลดน้อยลง ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นมาจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จนทำให้ถุงลมปอดเกิดหนอง หรือสารคัดหลั่งที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบหายใจ 

วิธีป้องกันโรค

  • งดสูบบุหรี่ เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ทำร้ายระบบทางเดินหายใจ
  • หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟ ควันเสีย หรือควันบุหรี่มือสอง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่หนาวเย็น เพราะจะทำให้หายใจได้ลำบาก
  • หากเป็นไข้หวัดใหญ่ควรรีบรักษาทันที เพื่อลดอาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
  • สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง อย่างการพักผ่อนอย่างเต็มที่ นอนให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ 
  • ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันปอดอักเสบ เพื่อช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

 2. โรคไข้หวัดใหญ่

2. โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากจะเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปแล้ว ยังเป็นโรคที่มากับหน้าฝนอีกด้วย มีอาการของโรคคือ ปวดหัว ไอแห้ง มีน้ำมูก ปวดเมื่อยล้าตามร่างกาย และมีไข้สูง ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับเชื้อไวรัสกลุ่ม Influenza Virus ซึ่งสามารถติดต่อไปยังระบบทางเดินหายใจได้อย่างเฉียบพลัน และส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนอย่างจมูกและคอ นอกจากนี้แล้วอาจลามไปถึงระบบในส่วนล่าง คือหลอดลมและปอดได้ด้วย

วิธีป้องกันโรค

  • ดูแลความสะอาดเมื่อต้องสัมผัสสิ่งของต่างๆ โดยการล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอด้วยสบู่
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือหากมีความจำเป็นอาจป้องกันโดยการสวมหน้ากากอนามัย
  • ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี

3. โรคไข้เลือดออก

3. โรคไข้เลือดออก

หนึ่งในโรคที่มาพร้อมกับฤดูฝน ที่เราจะต้องระมัดระวังตัวเองอย่างยิ่ง นั้นก็คือโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะที่สำคัญในการนำเชื้อโรคจากยุงมาสู่คน โดยการติดโรคไข้เลือดออกนั้นเกิดจากการที่ยุงได้กัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี จนเชื้อโรคได้เข้าไปฟักตัวในยุง และเมื่อยุงได้ไปกัดคนต่อๆ ไป ก็จะทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายออกไปสู่คน โดยโรคนี้เป็นโรคที่มากับหน้าฝนเนื่องจากแหล่งน้ำมักเป็นที่เพาะพันธุ์ของยุงลายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหน้าฝนที่มีจำนวนแหล่งน้ำขังที่เยอะมากขึ้น อาการของโรคคือ ไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน คล้ายๆ กับการเป็นไข้หวัด หากแต่จะมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ในระยะที่รุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการซึม เหงื่อออก ชีพจรเต้นเบาลง ปัสสาวะออกน้อย เลือดออกง่าย และความดันต่ำ 

วิธีป้องกันโรค

  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง ใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว ในที่ยุงชุกชุม
  • กำจัดแหล่งน้ำขัง แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 
  • ปิดฝาภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายมาวางไข่และเพาะพันธุ์
  • หากผู้ป่วยเคยติดโรคไข้เลือดออกมาแล้ว 1 ปี ควรได้รับวัคซีนไข้เลือดออก เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ

4. โรคมาลาเรีย

4. โรคมาลาเรีย

โรคมาลาเรีย เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่มียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะ ซึ่งทำให้เกิดเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม (Plasmodium) อาการของโรคมาลาเรีย เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น หากเป็นรุนแรงมากอาจทำให้เชื้อขึ้นสมอง ระบบแข็งตัวของเลือดบกพร่อง ไตวาย ตับโต และม้ามโตได้ โดยเชื้อที่พบได้บ่อยในประเทศไทย คือ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium Falciparum) นั่นเอง ซึ่งยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรียนั้นมักพบในที่ที่มีอากาศชื้น พื้นที่ป่า ต้นไม้เยอะ

วิธีป้องกันโรค

  • หลีกเลี่ยงการท่องเที่ยว การค้างแรม หรือการอยู่ในป่า หากมีความจำเป็นควรจะต้องมีการปรึกษาแพทย์เพื่อการกินยาป้องกันโรคมาลาเรีย และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ใช้ยากันยุงที่สามารถป้องกันยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • หากอาศัยในพื้นที่ที่ใกล้กับป่า อาจเพิ่มการป้องกันให้ที่พักอาศัยจากการติดมุ้งลวด หรือการใช้มุ้งป้องกันยุง

5. โรคตับอักเสบ

5. โรคตับอักเสบ

โรคตับอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ มีภาวะอักเสบบริเวณตับ นอกจากนี้แล้วพฤติกรรมบางประการอาจส่งผลต่อการเกิดโรคตับอักเสบด้วยเช่นกัน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การใช้สารเสพติดและผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือได้รับสารพิษ ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ส่งผลกระทบต่อตับ นอกจากนี้แล้วยังอาจเกิดจากการมีโรคอ้วน อาการของผู้ป่วยตับอักเสบมักจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว บริเวณข้อ และกล้ามเนื้อ รู้สึกจุกใต้ชาบโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง และปัสสาวะสีเข้มกว่าปกติ

วิธีป้องกันโรค

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด 
  • ควรรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการปรุงสุก
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับบุคคลอื่นๆ เช่น มีดโดน แปรงสีฟัน หรือเข็ม เป็นต้น 
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ
  • สวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันในทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

6. โรคฉี่หนู

6. โรคฉี่หนู

โรคฉี่หนู คือโรคที่มากับหน้าฝนที่เกิดจากการได้รับเชื้อ Leptospira ที่แพร่เชื้อมาจากสัตว์จำพวกฟันแทะ เช่น หนู โดยเชื้อพวกนี้จะถูกกักเก็บไว้ในไตของพวกสัตว์ และเมื่อฉี่ออกมาก็จะมีเชื้อปะปนออกมาด้วยนั่นเอง ดังนั้นยิ่งช่วงน้ำท่วมการแพร่เชื้อของโรคฉี่หนูยิ่งมาสู่คนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น จากการที่ผู้คนได้สัมผัสน้ำท่วมขัง อาการของผู้ที่เป็นโรคฉี่หนูคือเยื่อบุตาแดง มีอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อ ผื่นขึ้นตามผิวหนัง เลือดออกง่ายตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายเป็นต้น 

วิธีป้องกันโรค

  • หากคาดการณ์ว่าอาจจะต้องสัมผัสตามจุดที่มีน้ำท่วมขัง ควรหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบูต ถุงมือ ถุงเท้า เป็นต้น 
  • หลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค และไม่ควรที่จะสัมผัสปัสสาวะของสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโค กระบือ หนู และสุกร เป็นต้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเข้าไปในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง หรือแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด หากสัมผัสโดนจำต้องรีบทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว 
  • ไม่ทานอาหารที่ทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้ปิดภาชนะให้มิดชิด

7. โรคตาแดง 

7. โรคตาแดง

โรคตาแดง เป็นโรคที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดในเบ้าตา ตาแดง คันตา เคืองตา หรือรู้สึกไม่สบายตา นอกจากนี้แล้วอาจทำให้ตามบวม มีตุ่มขึ้น น้ำตาไหล มีขี้ตามาก หรือลืมตายากในช่วงตื่นนอน ซึ่งเกิดจากการที่ไปสัมผัสโดนเชื้อโรคโดยตรง ไม่ว่าจะด้วยการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น การอยู่ในพื้นที่แออัด มีการหายใจหรือการจามใส่กัน ซึ่งแพร่ระบาดได้ง่ายมากๆ ในที่ที่มีคนเยอะ

วิธีป้องกันโรค

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสและการขยี้ตา 
  • ควรใช้ยาหยอดตาแยกกันระหว่างดวงตาทั้งสองข้าง
  • งดการใช้คอนแทกเลนส์หากมีอาการระคายเคืองที่ดวงตา 
  • ไม่ใช้สายตาหนักเกินไปในแต่ละวัน ควรมีการพักการใช้สายตาบ้าง 
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยโรคตาแดงเด็ดขาด
  • หากติดเชื้อตาแดงและรู้สึกระคายเคืองที่ดวงตาอาจป้องกันโดยการปิดตา 
  • หากติดเชื้อตาแดงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะออกไปพบผู้คน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น

​​​​​​​8. โรค มือ เท้า ปาก​​​​​​​

8. โรค มือ เท้า ปาก

โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่พบได้ในเด็ก เนื่องจากมีการแพร่และติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจลดต่ำลง จึงทำให้ต้องระวังโรคที่มากับฤดูฝนนี้ด้วย โดยโรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ต่ำๆ ไม่อยากอาหาร เนื่องจากมีอาการเจ็บปาก และเป็นแผลในปาก น้ำลายไหล และมีผื่นแดง ตุ่มน้ำใสขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งตามลำตัว แขน ขา ด้วยเช่นกัน 

วิธีป้องกันโรค

  • หลีกเลี่ยงให้เด็กไปสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก เนื่องจากเชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายมาก
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค 2 เข็ม โดยหากเคยเป็นโรคมือ เท้า ปาก จะต้องเว้นระยะให้หายดีก่อนที่จะรับวัคซีน 
  • หมั่นทำความสะอาด อุปกรณ์สำหรับเด็ก หรือของเล่น ที่เด็กมักจะสัมผัสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค 
  • หากผู้ใหญ่ที่ต้องดูและหรือสัมผัสเด็กที่เป็นโรคนี้ จะต้องล้างมือให้สะอาดสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน

9. กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร 

9. กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร

โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ได้แก่ โรคท้องเดิน ท้องร่วง บิด อาหารเป็นพิษ เป็นต้น เนื่องจากการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำที่ไม่สะอาดที่มีการปนเปื้อนของสิ่งสกปรก เชื้อจุลินทรีย์ หรือเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางกลุ่มติดต่อทางน้ำและอาหาร จะมีอาการถ่ายไม่หยุด อาเจียนหนัก ทำให้ร่างกายขาดน้ำ และอาจหมดสติได้ 

วิธีป้องกันโรค

  • ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ดูไม่สะอาด 
  • รับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการปรุงสุก 
  • ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร
  • ล้างภาชนะที่ใส่อาหารและเครื่องดื่มให้สะอาดก่อนใช้งานทุกๆ ครั้ง 

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลโรคที่มากับหน้าฝน

โรคที่มากับหน้าฝนนั้นอันตราย และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากเราสร้างเกราะป้องกันให้กับตนเอง ทำให้ร่างกายแข็งแรงก็จะช่วยให้เราสามารถป้องกันตนเองจากโรคที่มากับหน้าฝนได้ โดยวิธีการดูแลตนเองง่ายๆ มีดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการตากฝนหรือเดินลุยฝน จุดที่น้ำท่วมขัง โดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้ร่างกายเราได้รับเชื้อโรคที่ทำร้ายสุขภาพ 
  • หากมีการตากฝน หรือสัมผัสจุดที่น้ำท่วมขัง จะต้องรีบล้างทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดทันที 
  • ล้างมืออย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรคจากสิ่งของต่างๆ เข้ามาสู่ร่างกายเรา 
  • สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่แออัด มีคนพลุกพล่าน หรือในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรค เพื่อป้องกันการติดต่อโรคที่อาจมากับฤดูฝน
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่ ที่มีความชื้นสูง เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มักเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นโรคที่มากับหน้าฝน
  • รักษาร่างกายและระดับอุณหภูมิไม่ให้หนาวเย็นเกินไป เพราะว่าในช่วงที่อากาศเย็นลงจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง โดยเฉพาะในเด็ก
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อช่วยเพิ่มการหมุนเวียนโลหิต 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยสร้างและฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงโดยรวม 
     

สรุป

หน้าฝนนั้นอันตรายและน่ากลัวกว่าที่เราคาดคิด ด้วยโรคที่มากับหน้าฝนที่จะส่งผลกระทบโดยตรงและทำร้ายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้บกพร่องได้ ดังนั้น การหันมาใส่ใจตนเองโดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานวิตามินเสริมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่มากขึ้น และป้องกันการสัมผัสเชื้อโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเรียนรู้และนำมาป้องกันตนเอง เนื่องจากหากติดโรคที่มากับหน้าฝนขึ้นมาแล้ว อาจทำให้สุขภาพย่ำแย่และรักษาได้ยากในบางกรณีด้วยเช่นกัน

 

อีกทั้งหากในช่วงนี้กำลังมองหาวิตามิน หรือยารักษาอาการเจ็บป่วยชนิดที่ไม่รุนแรงและสามารถรักษาเองได้ ที่ The Street Ratchada มีร้านขายยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและมีคุณภาพให้เราสามารถซื้อได้ ที่ชั้น 1 ไม่ว่าจะเป็น บีมอร์ บู๊ทส์ และวัตสัน หรือร้าน ฟาร์แม็กซ์ ตั้งอยู่ที่ชั้น B ซึ่งมีทั้งยาสามัญประจำบ้าน ยาแก้หวัดแก้ไข้ หรืออุปกรณ์ป้องกันฝน ซึ่งสะดวกและรวดเร็วต่อการซื้อ และเปิดให้บริการจนถึง 4 ทุ่ม เลยทีเดียว

Related