รู้จัก Low Self-Esteem ต้นตอสำคัญของโรคซึมเศร้า
ไม่มีกำหนดอายุ

รู้จัก Low Self-Esteem ต้นตอสำคัญของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้า ที่ใครหลายคนเคยเป็น หรือกำลังเผชิญหน้ากับมันอยู่ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง ล้วนเป็นภัยเงียบ ที่มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และกว่าจะรู้ทันอาการซึมเศร้าก็อาจเกิดการสูญเสียไปแล้ว ซึ่งโรคซึมเศร้ามีจุดเล็กๆ ที่ถือเป็นต้นตอสำคัญเลย นั่นคือ Low Self-Esteem และ Low Self-Esteem คืออะไร เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าอย่างไร ไปศึกษาและทำความเข้าใจไปด้วยกันได้เลย


สารบัญ รู้จัก Low Self-Esteem ต้นตอสำคัญของโรคซึมเศร้า


 

Low Self-Esteem คืออะไร?

Low Self-Esteem คืออะไร

Self-Esteem คือ ความรู้สึกที่เรารู้สึกชอบตัวเอง มีความสุขกับตัวเอง เป็นความรู้สึกที่ทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง และรู้จักให้เกียรติตัวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของการที่เราจะประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่ง Self-Esteem สามารถแบ่งประเภทได้ ดังนี้

High Self-Esteem

High Self-Esteem คือ คนที่สามารถเอาตัวเองก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้ ไม่ว่าอุปสรรคนั้นๆ จะยากมากเพียงใด และจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอยู่ในความสัมพันธ์ที่แย่ หรือทำอะไรที่จะทำให้พวกเขาสูญเสียความรู้สึกให้เกียรติตัวเอง และคุณค่าของตัวเอง

Low Self-Esteem

Low Self-Esteem คือ คนที่มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้ เมื่อพวกเขาเจอวิกฤติในชีวิต เนื่องจากพวกเขาตีความเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีต้นเหตุมาจากตัวเอง และมองว่าตัวเองไม่มีความสามารถ หรือไม่ดีพอที่จะจัดการแก้ปัญหาได้

 

ดังนั้น Self-Esteem จึงมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าโดยตรง กล่าวคือ เมื่อคนเรารู้สึกไม่ชอบตัวเอง หรือเมื่อคุณมี Low Self-Esteem ก็มักจะรู้สึกซึมเศร้า รู้สึกแย่กับตัวเอง และถ้าหากใครเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ความรู้สึกเศร้าใจและความรู้สึกแย่ต่างๆ ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณไม่ชอบตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม จนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า

 

สาเหตุที่ทําให้มี Self Esteem ตํ่า?

สาเหตุที่ทําให้มี Self-Esteem ตํ่า

สาเหตุที่ทำให้เกิด Low Self-Esteem มีปัจจัยจากหลายสาเหตุ ดังนี้

1. ถูกตอกย้ำจากครอบครัวว่า “ไม่ดีพอ”

ถ้าหากเราเติบโตมาในครอบครัวที่คนรอบข้าง มักพูดและย้ำอย๔เสมอว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ดีพอ ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนเราจะโตขึ้นมาแล้วรู้สึกดีกับตัวเอง เพราะคำพูดเหล่านั้น จะกดดันตัวเองเสมอว่าสิ่งที่ทำมันยังไม่ดีพอ

2. การไม่ได้รับความเอาใจใส่ หรือ การชื่นชมจากคนในครอบครัว

เมื่อเราประสบความสำเร็จในบางสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจกับตัวเอง แต่กลับไม่ได้รับการชื่นชมจากคนในครอบครัว สาเหตุนี้จะทำให้เรารู้สึกว่าถูกละเลย ไม่ได้รับความรัก รวมถึงทำให้คิดว่าสิ่งที่เราทำไม่มีความสำคัญ

3. คิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุของการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว

หากเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มักมีการทะเลาะเบาะแว้ง และเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในครอบครัวทะเลาะกัน หรือโดนผู้ใหญ่โทษว่าตัวเองเป็นสาเหตุที่ทำให้คนในครอบครัวทะเลาะกัน เมื่อรู้สึกว่าตัวเองเป็นสาเหตุ ก็ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ดี เป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้ง ภายในครอบครัว

4. การถูก Bully และไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัว

หากเกิดกรณีที่เราถูกรังแกจากนอกบ้าน และเมื่อกลับมาบ้านก็ยังรู้สึกไม่ได้รับความปลอดภัย รู้สึกว่าบ้านไม่ใช่ Safe Zone ของตัวเอง ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะรู้สึกดีกับตัวเอง เราจะรู้สึกว่าไม่มีค่า ไม่มีความสำคัญบนโลกใบนี้ และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิด Low Self-Esteem

5. การถูก Bully และครอบครัวเข้าข้างมากจนเกินไป

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิด Low Self-Esteem คือการที่เราโดนพ่อแม่โอ๋มากจนเกินไป เลี้ยงดูยิ่งกว่าไข่ในหิน ไม่ให้เผชิญหน้ากับปัญหาเอง สาเหตุนี้จะทำให้พวกเขาอ่อนแอ และไม่สามารถจัดการกับปัญหาและอุปสรรคในชีวิตได้ ซึ่งเมื่อพวกเขาโตขึ้น ความรู้สึกที่ไม่มีความสามารถดูแลตัวเอง, รู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ จะทำให้พวกเขารู้สึกไม่ชอบตัวเอง

6. การทำอะไรยากๆ โดยไม่มีใครให้กำลังใจ

ในปัจจุบันนี้ สังคมมีการแข่งขันที่สูงมากในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเรียนและการทำงาน เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น ท่ามกลางคนเก่งๆ มากมาย จะมีภาวะความกดดันที่ทำให้เรารู้สึกไม่มีความสามารถ สู้คนอื่นไม่ได้ และยิ่งบางคนไม่ได้รับความเข้าใจ หรือไม่ได้รับกำลังใจจากคนในครอบครัว ก็ยิ่งทำให้พวกเขาเกิด Low Self-Esteem ได้มากยิ่งขึ้น

7. ประสบความล้มเหลวหรือวิกฤติในชีวิต

การประสบปัญหาในชีวิตหรือเกิดวิกฤติในชีวิต เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลกับสภาพจิตใจ โดยตรง ซึ่งจากเหตุการณ์นั้นๆ อาจทำให้คนเรารู้สึกหมดหวังกับชีวิต และนำมาซึ่ง Low Self-Esteem จนก่อให้เกิดการเป็นโรคซึมเศร้าได้

8. ความเชื่อในสังคมและการเปรียบเทียบ

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิด Low Self-Esteem และโรคซึมเศร้า คือ มาตรฐานและความเชื่อที่สังคมตีกรอบขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Beauty Standard, การกำหนดว่าอายุเท่านี้ ควรมีบ้าน, รถ เป็นของตัวเอง เป็นต้น ซึ่งค่านิยมเหล่านี้ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบและรู้สึกกดดันตัวเอง เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ จนรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งมากพอ

 

สัญญาณเตือน

สัญญาณเตือนว่าคุณมีภาวะ Low Self-Esteem หรือไม่

ภาวะ Low Self-Esteem หรือความพึงพอใจในตนเองต่ำ สามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ หากใครสงสัยว่าตนเองหรือคนรอบข้างเข้าข่ายพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ ลองดูสัญญาณเตือนเหล่านี้ ว่าตัวเราหรือคนรอบข้างเข้าข่ายเป็นคนที่มีภาวะ “Low Self-Esteem” หรือไม่

  1. อ่อนไหวง่ายต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น คือ และมักจะแสดงออกทางอารมณ์ เช่น เศร้า เสียใจ โกรธ โมโห อย่างเห็นได้ชัด
  2. จิตตกหรือมีอาการเศร้าเสียใจได้ง่าย แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ก็จะเกิดอาการคิดมากได้ง่าย
  3. กลัวการเข้าสังคม มักมองคนอื่นในแง่ลบ หรือ กลัวการถูกปฏิเสธ
  4. มักมีอาการเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้างอยู่บ่อยๆ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากความต้องการการยอมรับ และความรักจากผู้อื่น
  5. วิตกกังวล กระวนกระวายง่าย ซึ่งเกิดจากการขาดความเชื่อมั่น และศรัทธาในตนเอง
  6. กลัวทำผิดพลาด ย้ำคิดย้ำทำ เนื่องจากกลัวไม่สมบูรณ์แบบแล้วจะทำให้รู้สึกว่า ตนเองไม่ดี ไม่มีค่า
  7. ไม่กล้าลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เพราะไม่เชื่อมั่นว่าตัวเองจะดูแลจัดการสิ่งต่างๆ หรือแก้ปัญหาใดได้
  8. ชอบวางอำนาจ หรือ ควบคุมสั่งการคนอื่นมากเกินไป เนื่องจากขาดความรู้สึกมั่นคงจากข้างใน เลยต้องการความยำเกรงจากผู้อื่น เพื่อทำให้ตนมีความมั่นคง และมีคุณค่า
  9. พยายามหาข้อแก้ตัว หรือหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง เพื่อไม่ให้คนอื่นเห็นข้อบกพร่อง เพราะยอมรับข้อบกพร่องของตนเองไม่ได้
  10. มักเอาใจคนอื่นมาก ไม่กล้าปฏิเสธ หรือไม่กล้าบอกความต้องการของตนเองตรงๆ เพราะ กลัวคนอื่นไม่รักหรือไม่เป็นที่ยอมรับภายในสังคม

 

High Self-Esteem สร้างได้อย่างไร?

High Self-Esteem สร้างได้อย่างไร

การสร้าง Self-Esteem ที่ดี หรือ High Self-Esteem นั้นไม่ใช่เรื่องยาก การเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นสิ่งที่ฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้ โดยเริ่มจากตัวเองหรือการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ดังนี้

  1. ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
  2. ให้อภัยตัวเองสำหรับความผิดพลาด
  3. ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในแต่ละวัน เมื่อเราทำตามเป้าได้สำเร็จ จะเกิดความภูมิใจในตัวเอง
  4. กล้าปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ต้องการ
  5. พูดขอบคุณและให้คำชมเล็กๆ น้อยๆ กับตัวเอง
  6. ปรับทัศนคติ มองโลกในแง่บวกให้มากขึ้น
  7. หางานอดิเรกที่สนใจ
  8. พยายามอยู่กับคนที่มอบพลังบวกและความสบายใจให้กับเรา
  9. รู้จักแยกแยะระหว่างเรื่องจริง พยายามโฟกัสความจริงตรงหน้า และตัดเรื่องที่เกิดจากความคิดกังวลของเราทิ้งไป
  10. เลิกยึดติดกับอดีตหรือความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น

 

ในช่วงที่สถานการณ์แบบนี้ นอกจากยังจะต้องดูแลสุขภาพกายแล้ว สุขภาพใจก็สำคัญไม่แพ้กัน หากใครรู้ตัวว่าเข่าข่ายมีภาวะ Low Self-Esteem และเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย ลองทำตามวิธีสร้าง Self-Esteem ที่เรานำมาฝากได้เลย แต่ถ้าใครมีอาการค่อนข้างรุนแรง ระดับ Low Self-Esteem ค่อนข้างสูง หรือมีเปฌนโรคซึมเศร้าร่วมด้วย แนะนำว่าให้ปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำและวิธีการรักษาที่ถูกต้องในลำดับต่อไป และก่อนจะจากกันไปวันนี้ขอทิ้งท้ายไว้ว่าการพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องน่าอาย การพบจิตแพทย์ไม่ต่างกับการพบแพทย์ในเรื่องทั่วไป เพียงแต่เปลี่ยนจากการรักษาสุขภาพกาย มารักษาสุขภาพใจแทน เป็นกำลังใจให้ทุกคนเห็นคุณค่าและใจดีกับตัวเองให้มากๆ

Related