เสียงเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญในชีวิตประจำวัน โดยยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้กำหนดให้ปี ค.ศ. 2020 – 2021 เป็นปีแห่งเสียงสากล (International Year of Sound 2020 - 2021 : IYS2020-2021) เพื่อเน้นความสำคัญของเสียง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเสียง ส่งเสริมความเข้าใจในการควบคุมเสียงรบกวนในธรรมชาติ และในสภาพแวดล้อมทั่วไป รวมถึงเสียงในบริบทของดนตรี โดยมองว่าเสียงเกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้จัดแสดงนิทรรศการ ศาสตร์ศิลป์ในเสียง จากแนวคิดเล่าเรื่องราวของเสียงตามแนวทางของยูเนสโก ที่ NSM Science Square ณ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา โดยมีเป้าหมาย ให้ผู้เข้าชมเล่นสนุกกับเสียง และสัมผัสประสบการณ์เสียงในมิติทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้บริบทแวดล้อมด้วยบรรยากาศของเสียง และความงดงามพลิ้วไหวของเสียงในมิติทางศิลปะ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นตระหนักถึงความสำคัญของ ‘เสียง’ ที่เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนางานวิทยาศาสตร์และโลกของเรา
นิทรรศการ ศาสตร์ศิลป์ในเสียง เป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวของเสียงในมิติของความเป็นวิทยาศาสตร์ และ เสียงในความเป็นศิลปะ ดังคำกล่าวของไอน์สไตน์ที่กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์และศิลปะ มีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันเป็นสุนทรียศาสตร์” อีกทั้ง เป็นการยอมรับข้อถกเถียงที่ว่า “วิทยาศาสตร์และศิลปะ เป็นศาสตร์ที่อยู่ในกิ่งก้านสาขาเดียวกัน” นิทรรศการ ศาสตร์ศิลป์ในเสียง จึงนำเสนอเนื้อหาที่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ และมีศิลปะแอบแฝงอย่างแยบยลอยู่ในการนำเสนอนั้น ซึ่งนิทรรศการนี้อาจอยู่ในรูปแบบการออกแบบบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยเสียง (Environment of Sound) อารมณ์และความรู้สึก (Mood and Tone) ในเชิงศิลปะที่มีความสวยงาม ขณะเดียวกันก็แทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปด้วยเช่นกัน โดยไม่มีเกณฑ์กำหนดตายตัวเพื่อแบ่งขอบเขตของ “วิทยาศาสตร์” และ “ศิลปะ”
ในพื้นที่นิทรรศการ ผู้เข้าชมจะได้เล่นสนุกกับชิ้นงานปฏิสัมพันธ์ที่สื่อถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเสียง และสัมผัสประสบการณ์เสียงในมิติทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้บริบทแวดล้อมด้วยบรรยากาศของเสียง และความงดงามพลิ้วไหวของเสียงในมิติทางศิลปะใน 5 โซนหลักของนิทรรศการ ดังนี้
สัมผัสประสบการณ์เสียงที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโลก ผ่านอุโมงค์แห่งเสียงพร้อมแสงสี รวมถึงเรียนรู้และเข้าใจถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการจัดปีสากลแห่งเสียง ตามนโยบายของ ยูเนสโก (UNESCO)
ความหมายของเสียงในทางฟิสิกส์ ได้แก่ การเกิดเสียง การสั่น สมบัติของเสียง คลื่นเสียง การแทรกสอดของคลื่นเสียง (Beats) การเลี้ยวเบน ความเข้มเสียง ระดับเสียง การกำทอน (Resonance) ปรากฏการณ์ดอปเปอร์คลื่นกระแทก (Sonic Boom) อัตราเร็วของเสียง การสะท้อนของเสียง การได้ยินเสียง อวัยวะการรับเสียงของมนุษย์
นำเสนอเรื่องราวของเสียงที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก รวมถึง ความหมายของเสียงในเชิง จิตสวนศาสตร์ (Psychoacoustics) พบกับชิ้นงานปฏิสัมพันธ์ที่สามารถจำแนกอารมณ์จากเสียงพูด และเสียงที่มีส่วนช่วยในการบำบัดร่างกายและจิตใจท่ามกลางสภาวะความเคร่งเครียดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
นำเสนอเรื่องราวของเสียงในสัตว์สิ่งมีชีวิต การสื่อสารด้วยเสียงของสัตว์ ความหมายเสียงของสัตว์ในการสื่อสาร เสียงจากธรรมชาติ อาทิ เสียงไก่ขัน นกร้อง ย่านความถี่ของสัตว์ในการสื่อสาร เป็นต้น
ห้องทัศนียภาพของเสียงทางธรรมชาติ (Natural Soundscape)
จัดแสดงสัตว์ Stuff ด้วยวิธีการ Taxidermy พร้อมกับนำเสนอเสียงของสัตว์นั้นๆ ในแง่มุมของการสื่อสารด้วยเสียงของสัตว์
นำเสนอเทคโนโลยีที่นำเสียงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การใช้คลื่นเสียงเพื่อการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ เครื่องช่วยขยายเสียงสำหรับคนหูหนวก การใช้เสียงเพื่อประโยชน์ทางทะเล (Underwater Acoustics) รวมถึงการหาตำแหน่งวัตถุโดยใช้เสียงสะท้อน (Echolocation)
• ผู้ใหญ่ 20 บาท
• นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ เข้าฟรี
• โทรศัพท์: 02-577-9999 ต่อ 2122-2123 หรือ 02-577-9970
• Facebook: NSM Science Square @ The Street Ratchada
• เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 10.00 น. – 19.00 น.
• ชั้น 5 ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา
ผู้เข้าชมนิทรรศการ จะได้รับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของเสียงในเชิงฟิสิกส์ การใช้เสียงเพื่อประโยชน์เชิงสุนทรียภาพและการบำบัดอารมณ์และจิตใจ รวมถึงการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเสียงในด้านต่าง ๆ เช่น การแพทย์ อุตสาหกรรม เป็นต้น เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป เยาวชน นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่ทำงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องศาสตร์ของเสียงทั้งทางตรง เช่น ในสาขาฟิสิกส์ หรือทางอ้อม เช่น การแพทย์ประยุกต์ ชีวการแพทย์ ดนตรี การใช้เสียงในการบำบัด เป็นต้น มาสนุกพร้อมเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. หรือ NSM Science Square ณ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา แหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบสร้างสรรค์ใจกลางเมือง
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่