พาชมนิทรรศการ Taxidermy คืนชีวิตให้ซากสัตว์ การจัดแสดงสตัฟฟ์สัตว์ชุบชีวิตสัตว์ที่ตายไปแล้วให้กลับมาเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำมาจัดแสดงนิทรรศการให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อหวังปลูกฝังแนวคิดให้คนไทยร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า และเสริมสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาแก่ประชาชนในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและการเรียนรู้ของคนในสังคม ที่ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดาในช่วงเดือนวันเด็กปีนี้
Taxidermy คือ การสตัฟฟ์สัตว์โดยใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับศิลปะทำให้สัตว์ที่ตายแล้วมีท่าทางเสมือนสัตว์เหล่านี้ยังมีชีวิตในอิริยาบถที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด นอกจากทักษะฝีมือแล้ว ความรู้ทางธรรมชาติวิทยาเกี่ยวกับสรีระ ท่าทาง และการดำรงชีวิตเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้จัดแสดงได้สมตรงิ ใกล้เคียงกับธรรมชาติ การทำ Taxidermy ให้ประโยชน์ในการเก็บรักษาซากสัตว์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติผ่านรูปแบบการจัดแสดงได้เป็นอย่างดี
การสตัฟฟ์ เป็นงานที่สะท้อนถึงความท้าทายของการอนุรักษ์สัตว์ให้อยู่คู่กับระบบนิเวศตามธรรมชาติ และความร่วมมือของมนุษย์ที่ล้วนเป็นหนึ่งในสาเหตุการล้มหายตายจากของสัตว์เหล่านั้น นอกจากจะเป็นการเก็บรักษาซากสัตว์สำคัญที่อาจใกล้สูญพันธุ์ไว้แล้ว การสตัฟฟ์ยังเป็นการเก็บสตอรี่ของสัตว์ที่มีผลต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งขั้นตอนและระยะเวลาในการสตัฟฟ์สัตว์จะแตกต่างกัน โดยมีวิธีการสตัฟฟ์สัตว์เบื้องต้นดังนี้
เริ่มจากวัดขนาดและสัดส่วนให้ละเอียด เพื่อใช้หล่อแบบลอกหนังและแช่น้ำยารักษาก่อนนำมาฟอก จากนั้นสร้างหุ่นขึ้นรูป โดยระยะเวลาทั้งหมดขึ้นอยู่กับขนาดสัตว์
ต้องลอกหนังอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ขนนกหลุดร่วง ซึ่งจะทำให้ความสวยงามลดลง การขึ้นรูปจะใช้ฝอยไม้ไผ่หรือใยไม้เนื้ออ่อนประกอบกับลดเพื่อดัดปีกและหางให้ได้ท่าทางตามที่ต้องการ
เมื่อเลาะผิวหนังและรยางค์ต่างๆแล้วนำมาหุ้มกับหุ่นที่ทำจากโพลียูรีเทนหรือวัสดุคล้ายกัน แล้วเสริมความแข็งแรงด้วยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยไฟเบอร์กลาสก่อนตกแต่งสีสันให้เหมือนจริง หากเป็นปลาขนาดใหญ่ ผิวหนังจะหนา ต้องผ่านขั้นตอนการฟอกหนังด้วย
ใช้หลักการแทนที่น้ำในเซลล์ เริ่มจากแช่ในแอลกอฮอล์ ความเข้มข้นน้อยไปมากก่อนนำไปแช่ในโพรพานอลตามด้วยพาราฟินเหลวที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส เป็นเทคนิคที่ง่าย แต่ใช้เวลาหลายวันและทำได้กับสัตว์หลายประเภท
สัมผัสประสบการณ์มิวเซียมมีชีวิต พร้อมชมสัตว์สตัฟฟ์หายากที่ถูกยกมาไว้ใจกลางเมือง นิทรรศการ “Taxidermy” นิทรรศการสัตว์สตัฟฟ์ที่จะพาคุณท่องไปในโลกของสัตว์หลากหลายชนิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมปลูกฝังแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ทางวิทยาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยาให้กับประชาชนในวงกว้าง โดยสัตว์สตัฟฟ์ที่นำมาจัดแสดงภายในนิทรรศการ จะทำให้ทุกคนได้ตื่นตาตื่นใจใกล้ชิดธรรมชาติ ท่ามกลางมิวเซียมมีชีวิตของเหล่าสัตว์สตัฟฟ์ ตั้งแต่สัตว์สตัฟฟ์ขนาดเล็ก ไปจนถึงสัตว์สตัฟฟ์ขนาดใหญ่ สัตว์สตัฟฟ์หลายชนิดที่น่าสนใจต่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสัตว์ที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก ยกตัวอย่างเช่น
นกแก้วโนรีแคทเทอริ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ พบมากบริเวณพื้นที่ราบลุ่ม ป่าดิบเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 1,050 เมตร โดยปกติแล้วเจ้านกปากสีส้มชนิดนี้จะชอบอยู่บริเวณสวนและป่ามะพร้าว ส่วนใหญ่จะมีขนสีแดงเข้ม ต้นขาและปีกมีสีเขียวอ่อน ปลายหางมีสีเขียวเข้ม ในบางครั้งจะมีจุดแต้มสีเหลืองตามใบหน้า และมีอยู่ 3 สายพันธุ์ย่อย ลักษณะแตกต่างกัน เราจะมีโอกาสได้เห็นลำตัวเป็นสีเหลือง เมื่อนกแก้วโนรีแคทเทอริ่งกระพือปีก และหุบปีก โดยนกแก้วโนรีแคทเทอริ่งอาศัยอยู่ในโพรงบนต้นไม้สูงจากพื้นดินประมาณ 20-25 เซนติเมตร ฤดูกาลผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน หรือนานกว่านั้น ออกไข่ครั้งละ 2 ฟอง ระยะเวลาฟักไข่ประมาณ 76 วัน
กวางรูซ่าอาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นสัตว์จำพวกกวางที่มีขนาดกลางตัวผู้มีน้ำหนักประมาณ 80-120 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 40-60 กิโลกรัม กินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะส่วนใบไม้ (Herbivore, Folivore) จัดอยู่สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศน์ในการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์พืช โตเต็มที่เมื่ออายุ 1.5-2 ปี และมีอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20 ปี โดยกวางรูซ่าสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ระยะเวลาในการตั้งท้อง 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว
นกคาสโซวารีเป็นนกขนาดใหญ่ที่บินไม่ได้ มีความสูงประมาณ 100 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 85 กิโลกรัม ถึงแม้จะมีขนาดตัวที่ใหญ่ แต่เจ้าคาสโซวารีกลับเป็นนกขี้อาย ระมัดระวังตัวมาก มีอารมณ์เสียง่าย และชอบต่อสู้ โดยปกติจะอาศัยอยู่ตามลำพังในป่าฝนทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย และทางใต้ของเกาะปาปัวนิวกีนี ในทวีปออสเตรเลีย ลักษณะขาสั้นและแข็งแรง ขนทั่วทั้งตัวมีลักษณะคล้ายเส้นผม เอาไว้ป้องกันดงหนามของไม้พุ่มต่างๆ มีหางและปีกก็เล็กมาก บนหัวจะมีสันกระดูกดูเด่นสะดุดตา หัวและคอไม่มีขน ส่วนหนังจะเป็นสีแดง ฟ้า ม่วง และเหลือง ขาจะมี 3 นิ้ว สามารถวิ่งได้เร็วมากถึง 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนั้นยังสามารถว่ายน้ำได้อีกด้วย นกคาสโซวารี่จะออกไข่เป็นสีเขียวเข้มชุดละ 3-6 ฟอง โดยตัวผู้จะเป็นผู้ฟักไข่ ใช้เวลาประมาณ 49-56 วัน โดยนกคาสโซวารีนับเป็นสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลางออสเตรเลีย
การนำสัตว์ที่เสียชีวิตแล้วมาดำเนินการต่อแทนที่จะต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าไป สามารถชุบชีวิตสัตว์ที่ตายไปแล้วให้กลับมาเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง เพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ โดยหวังสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนที่มีความสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางสู่เส้นทางสายอาชีพของการเป็นนัก Taxidermist สำหรับเยาวชนในอนาคตต่อไป
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่